ซีสต์ ถุงน้ำอันตราย (แค่ไหน)


ซีสต์ถุงน้ำ

Cyst ถุงน้ำอันตราย (แค่ไหน) (Modernmom)

โดย: coco

          การ เกิดสิ่งแปลกปลอมขึ้นในร่างกายย่อมนำมาซึ่งความหวาดวิตกสารพัดค่ะ โดยเฉพาะสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อว่าซีสต์ (cyst) ที่มีสถิติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตัวผู้หญิงเราค่ะ

          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ซีสต์ (cyst) ไม่ใช่โรค เราเรียกว่าเป็นภาวะที่มี ซีสต์ (cyst) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าถุงน้ำเกิดขึ้นในร่างกาย ไม่ใช่เนื้องอก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ที่สำคัญคือสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกอวัยวะ ตั้งแต่ผิวหนังเรื่อยลงไปจนถึงอวัยวะภายในเชียวค่ะ

          ภายในซีสต์นั้น อาจจะมีส่วนประกอบเป็นน้ำหรือสารหลั่งจากต่อมของร่างกาย ขนาดของซีสต์มีตั้งแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จนถึงมองเห็นได้ คลำได้จากภายนอกร่างกายเลยล่ะค่ะ

          บริเวณที่พบ ซีสต์ บ่อยในร่างกาย

ช่องคลอด, ปากมดลูก รังไข่

ผิวหนัง

เปลือกตาด้านบน

ข้อมือและข้อเท้า

เหงือก

สมอง

          ถูกกระตุ้น เสียดสี ต้นเหตุซีสต์

          มีความเชื่อที่ว่า บริเวณที่ถูกกระตุ้นหรือเสียดสีบ่อย ๆ ทำให้เป็นซีสต์ได้ เช่น การถอนขนรักแร้เป็นประจำ การนั่งนาน ๆ ความจริงก็คือ รูขุมขนที่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกกระตุ้นหรือเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ที่คอ รักแร้ และก้น มีโอกาสเป็นแผล มีการฝังตัวของเซลล์ผิวหนังเข้าไปในชั้นหนังแท้จนเกิดเป็นซีสต์ และหากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอีกก็จะทำให้เกิดซีสต์ในบริเวณนี้ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม สาเหตุของซีสต์นั้นยังไม่แน่ชัด มีปัจจัยแตกต่างไปตามอวัยวะของร่างกายอีกด้วยค่ะ

          เมื่อซีสต์มาเยือน

          ปกติแล้วผู้หญิงเราควรตรวจดูร่างกายตัวเองอยู่เป็นประจำว่า มีสิ่งปกติ ปูด นูน ออกมาจากในร่างกายหรือไม่ หรือมีอาการปวดท้อง ปวดข้อบริเวณไหน และไปพบแพทย์ให้ทำการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางแพทย์ให้ชัดเจน เช่น การตรวจอื่น ๆ ที่พอจะบอกได้ว่าเป็นซีสต์หรือก้อนเนื้อ อาทิการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ (ซีสต์ในร่างกาย) หรือการใช้เข็มฉีดยาเจาะดู (ซีสต์นอกร่างกาย)

          ผู้หญิงบางคนพบว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ขณะแขม่วท้องออกกำลังกายแล้วปรากฏว่าท้องไม่ยุบตามไปด้วย มีก้อนปูดขึ้นมาให้เห็น ซึ่งเป็นสัญญาณให้ไปพบแพทย์ได้ทัน คราวต่อไปคุณแม่อย่าลืมสังเกตอาการแบบนี้ ดีกว่ารู้ตัวอีกทีก็สายไปแล้วนะคะ

           ตัดซีสต์ทิ้งดีไหม

          หากพบซีสต์ในร่างกาย คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูขนาดของก้อนซีสต์เป็นประจำ แม้จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อย แต่หากขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ควรผ่าตัดเอาซีสต์ออก ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะแผลผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นน้อยก็ลุกไปเลี้ยงลูก หรือทำงานต่อได้เลยค่ะ อย่างไรก็ตามญาติของ coco คนหนึ่งเป็นซีสต์ที่เต้านม แต่ดูแลร่างกายดี สามารถคุมให้ขนาดซีสต์ไม่โตขึ้นได้ ก็ไม่ต้องผ่าตัดแต่อย่างใดค่ะ

          ซีสต์ที่เกิดบ่อยในผู้หญิง

          ซีสต์ที่เต้านม

          ซีสต์ที่เต้านมจะมีน้ำขังอยู่ในเนื้อเต้านม เมื่อคลำจากภายนอกจะพบก้อนในเนื้อนม เล็กบ้างใหญ่บ้าง สาเหตุของซีสต์ที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมนั้นอาจเกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลง ต่อมเต้านม มีน้ำเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเต้านมแล้วรวมตัวเป็นถุงน้ำ หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโตเจน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเต้านม จนในที่สุดก็กลายเป็นซีสต์ โดยซีสต์ในเต้านมนั้นอาจโตขึ้นแล้วยุบลงได้ในช่วงที่เป็นประจำเดือนค่ะ อาจมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณเต้านม เนื่องจากน้ำในซีสต์ดันเนื้อนมรอบข้างแล้วทำให้เต้านมตึงขึ้น

          คำแนะนำ : ผู้หญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความตึงหรือโอกาสเติบโตของซีสต์ใน หน้าอกลงได้ค่ะ นอกจากนี้ คุณแม่ที่พบซีสต์ในเต้านมควรงดกินเค็ม เพราะเกลือจะเป็นตัวเพิ่มการคั่งของของเหลวในถุงซีสต์ งดคาเฟอีนทุกประเภท หากรู้สึกคัดตึงมาก ๆ ลองประคบด้วยน้ำแข็งหรือแผ่นเย็น (cold pack) ในบริเวณที่ปวด วันละ 2 ครั้ง หากกังวลใจว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม ควรต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ เพื่อดูลักษณะของซีสต์ที่เกิดขึ้นค่ะ

          ซีสต์ที่ผิวหนัง

          ผิวหนังของผู้หญิงเรามักจะลูบไปแล้วเนียนเรียบ แต่หากมีก้อนเล็ก ๆ นูนขึ้นมา บริเวณต่าง ๆ ของร่างกายมากจนผิดสังเกต อาจมีสีเดียวหรือต่างกับผิวหนัง สันนิษฐานได้ว่าเป็นซีสต์ได้เลยค่ะ โดยซีสต์ที่ผิวหนังนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยและทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยที่ใบหน้า คอ หน้าอก และหลังส่วนบน มักจะเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่ผิวหนัง มีการฝังตัวของเซลล์ผิวหนังในชั้นหนังแท้ หลังจากที่ผิวหนังถูกทิ่มแทง เป็นแผล หรือเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ก็ได้ค่ะ

          ซีสต์ผิวหนังประเภทหนึ่งที่คุณผู้หญิงเป็นกันมากคือสิวข้าวสาร มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายสิว พบบ่อยที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จมูกในทารกแรกเกิด และที่หนังตาและแก้มในเด็กสาว โดยทั่วไปแล้ว ซีสต์ผิวหนังไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก แต่หากมีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีเลือดออก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อกำจัดออก ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดและใช้เลเซอร์ค่ะ

          คำแนะนำ: ไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์ผิวหนังแบบไหนไม่ควรเจาะ แคะ แกะ เกาบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว หรือการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อย ๆ อาจทำให้สารที่บรรจุอยู่ในซีสต์เล็ดลอดออกมากระตุ้นให้ร่างกายเกิดขบวนการ อักเสบ อาจทำให้ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น แดงและเจ็บด้วยนะคะ

          Chocolate cyst

          ซีสต์อีกประเภทหนึ่งที่คุณผู้หญิงกลัวกันมาก คือ Chocolate Cyst หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แหม ตั้งชื่อซะน่ากินทำไมไม่รู้นะคะ เพราะที่มาของชื่อนี้ก็เพราะตั้งชื่อตามลักษณะของก้อนเลือดประจำเดือนสี น้ำตาลที่ไหลย้อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ซ้ำ ๆ เป็นเวลาหลาย ๆ ปีแล้วไปฝังตัวในมดลูก เลยเถิดไปถึงช่องท้องหรือลำไส้ก็มี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังอธิบายไม่ได้แน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่ว่ามักจะพบในผู้หญิงช่วงอายุประมาณซัก 20-40 ปี สำหรับผู้หญิงที่อยากมีลูกแล้วไม่มีสักที ก็ต้องลองไปตรวจดูด้วย เพราะเจ้า Chocolate Cyst นั้น เป็นเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้

          คำแนะนำ : ยิ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการได้เร็วก็จะช่วยให้สามารถกำจัดก้อนซีสต์ได้เร็ว ด้วยนะคะ เพราะหากก้อนยังเล็กโตไม่เกิน 5 เซนติเมตร สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้ค่ะ

           วิธีการสังเกตอาการ คือกลุ่มเสี่ยงจะอยู่ที่ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ปวดหน่วง ๆ หรือปวดถ่วงลงทวารหนัก ขณะเดียวกัน บางคนก็ไม่มีอาการปวด ยกเว้นเมื่อขนาดของซีสต์โตมาก ๆ แล้วไปกดอวัยวะข้างเคียงหรือแตกออกมา ด้วยเหตุนี้ การระมัดระวัง ไม่ประมาท และหมั่นสังเกตอาการตัวเองให้ดี หรือใช้การเช็คสุขภาพประจำปี ก็เป็นการดีที่สุดค่ะ

          แม้ ซีสต์ ไม่ใช่โรคร้ายแต่ก็เป็นกระจกเงาสะท้อนสุขภาพของตัวเองได้เป็นอย่างดีนะคะ บางคนไม่ดูแลสุขภาพมานาน พอพบซีสต์แล้วก็กลับมาดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอีกครั้ง อย่าลืมว่าสุขภาพที่ดีของแม่เป็นรากฐานที่ดีของการดูแลลูกนะคะ


www.kapook.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก