รับมือโรคภัยจากแสงแดด





รับมือโรคภัยจากแสงแดด (Men’s Health )

เรื่อง : นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์

          เมื่อพูดถึงฤดูร้อนคงไม่พ้นนึกถึงแสงแดดสีทอง น้ำทะเลสีคราม หาดทรายสีขาว ต้นมะพร้าวเชียวชอุ่ม ค็อกเทลอร่อยๆ และสาว ๆ ในชุดบิกินี แต่คุณทราบหรือไม่ว่ายังมีสิ่งที่มากับหน้าร้อน ที่นอกเหนือจินตนาการของคุณที่กล่าวมาอีก เพราะแสงแดดที่อบอุ่นมีทั้งข้อดีที่มีประโยชน์ และข้อเสียที่ร้ายกาจจนคุณอาจไม่เคยนึกถึง

          เพราะธรรมชาตินั้นช่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก มนุษย์มักจะคิดว่าตนเองอยู่เหนือธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติมาก แต่ความจริงไม่ใช่เลยครับ แสงอาทิตย์นั้นสาดส่องมายังโลก และให้ประโยชน์กับเราตลอดมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรง เชน ให้ความอบอุ่นและแสงสว่างทำให้เกิดวัฏจักรของน้ำอย่างการเกิดฝน ช่วยให้พืชสังเคราะห์แสง เพื่อเป็นอาหารแก่เราและเหล่าสรรพสัตว์ใช้ฆ่าเชื้อโรค แม้กระทั่งใช้ตากผ้า หรือตากอาหารให้แห้ง


          แสงแดดที่ให้ความอบอุ่นและแสงสว่างแก่เรานั้น ประกอบด้วยรังสีต่างๆ ได้แก่ รังสีอินฟราเรด รังสีอุลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี ทั้งยูวีเอและยูวีบี และยังมี Visible Light หรือแสงที่ตามองเห็น มีแสงเป็นรุ้งหลายหลาสีที่เราเรียกว่า สเปคตรัม (Spectrum) นั่นเอง รังสีที่มีผลกับสุขภาพของรามาก และได้ยินบ่อยจนคุ้นเคยกันดีคือรังสียูวี ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า เจ้ารังสีนี้เป็นตัวการทำให้ผิวหมองคล้ำไม่สดใส แต่รังสียูวีก็มีประโยชน์มาก กล่าวคือช่วยให้ร่างกายเราสร้างวิตามินดีขึ้นมาได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียเงิน

          วิตามินดีนั้นดีสมชื่อครับ เป็นวิตามินจำพวกละลายในไขมัน มีคุณสมบัติในการรักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและกระดูก ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส ร่างกายเราสามารถรับวิตามินดีได้จากการรับประทานอาหารจำพวกพืชผัก-ผลไม้ ต่างๆ และในสัตว์ เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน ตับของสัตว์ น้ำมันตับปลา นม เนย และไข่แดง แต่มีปริมาณน้อยกว่าในพืชผักมาก เพราะเรารับวิตามินต่อมาจากสัตว์ที่กินพืชอีกที นอกจากนี้ รังสียูวีในแสงแดดยังสามารถสร้างวิตามินดีให้กับร่างกายเราได้ด้วย โดยการไปกระตุ้นคอเลสเตอรอล ชนิดที่อยู่ในผิวหนังให้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี หากคุณได้รับรังสียูวีจากแสงแดด แล้วก็ไม่จำเป็นต้องบริโภคอาหารเสริมวิตามินดีแต่อย่างใด


โรคผิวหนังที่เกิดจากแสงแดด

          โรคผิวหนังที่มักจะมากับแสงแดดและติดทนทานไปกับคุณอีกนาน ไม่ว่าจะหน้าฝนหรือหน้าหนาวก็คือ กระและฝ้าครับ ส่วนมะเร็งผิวหนังมักพบในคนผิวขาว ซึ่งพบได้น้อยในคนไทยที่มีสีผิวเข็มกว่าอย่างพวกเรา จึงไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก แค่หมั่นสังเกตว่าผิวมีความผิดปกติ เช่น มีตุ่มนูนหรือก้อนเนี้ยบนผิวที่ขยายตัวเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่มีไฝ ควรตรวจดูบ่อยๆ ว่าไม่บนตัวของคุณมีการเปลี่ยนแปลงของสีและขนาดหรือเปล่า เพราะไฝบอกบางต่อแสงแดดมากครับ หากโดนแดดมากๆ อาจกลายเป็นมะเร็งเนื้อร้ายได้ นอกจากนี้ อาการผื่นแพ้แดด ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดจากการโดนแสงแดดกระตุ้น ทำให้เกิดอาการผื่นคัน

1. กระ และ ฝ้า

          กระแดด และ ฝ้าที่เกิดในหน้าร้อนนั้นมีสารเหตุจากการที่รังสียูวีเอและ Visible Light ไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ให้ผลิตเซลล์เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ซึ่งอยู่ในผิวหนังชั้นนอกส่วนล่าง (Epidermis) ให้ทำงานมากผิดปกติ ถ้ายิ่งมีเมลานินมาก ผิวก็จะยิ่งมีสีเข้มขึ้น เมื่อมองดูจากผิวหนังด้านบนจึงเห็นผิวหนังที่มีสีไม่เท่ากัน กระแดดและฝ้าถึงแม้จะเกิดจากแสงแดด เหมือนกัน แต่ก็มีลักษณะที่ต่างกันครับ

          1.1 กระแดดหรือกระ (Freckles หรือ Ephelides) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลหรือสีดำ มักมีขนาดเล็กกว่า 0.5 ซม. พบได้บริเวณใบหน้าและผิวหนังส่วนต่างๆ ที่โดนแสงแดดเป็นประจำ โดยทั่วไปแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก เป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว พบมากในคนผิวขาว และจะมีปริมาณและสีที่เข้มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นหรือเมื่อถูกกระตุ้นโดยแสงแดด

          การรักษา ทำให้โดยการใช้เลเซอร์ประเภท CO2 หรือประเภท Alex Tri Vantage จี้ออก ซึ่งหลังทำจะเกิดสะเก็ด พอสะเก็ดหลุดออกก็ไม่เกิดแผลเป็นแต่อย่างใด

          1.2 ฝ้า (Melasma) มีลักษณะเป็นแผ่นสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม พบได้บริเวณใบหน้าตรงโหนกแก้ม หน้าผาก จมูก และเป็นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ฝ้าตื้นหรือฝ้าแดด เกิดจากแสงแดด ฝ้าลึก เกิดจากฮอร์โมนหรือสารเคมี และฝ้าผสม เกิดจากการเป็นฝ้าทั้งสองชนิดเราซ้อนทับกัน ฝ้าแดดนิยมรักษาโดยการผลักวิตามินซีเข้าสู่ผิว และผลัดเซลล์ผิว (Microdermabrasion) เช่น การกรอผิวด้วยอัญมณี หรือการใช้เครื่องประเภท Jet Peel โดยใช้น้ำเกลือผลักเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดออก

          การรักษา กระ และฝ้านั้นรักษาให้หายขาดได้ยาก การที่เรามองไม่เห็นก็เพราะว่าสีของมันจางลงไปเท่านั้น หากโดนแสงแดด กระและฝ้าก็จะกลับมีสีเข้มขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงควรทาครีมกันแดดอยู่เสมอ และควรทาบ่อยๆ เมื่อต้องอยู่ในแดดนานๆ

2. ผื่นแพ้แดด

          เป็นลักษณะของผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) ในรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารชนิดหนึ่งแล้วโดนแสงแดด และเกิดปฏิกิริยาการแพ้ในการสัมผัสกับแสงแดดครั้งถัดๆ ไป และก่อให้เกิดผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ (Eczematous Rash) ขึ้นมาทันที เพราะร่างกายเราจดจำได้แล้วว่าแพ้สารชนิดนั้นๆ อาการผื่นแพ้แดดที่เกิดขึ้นคือ บวม แสบร้อนที่ผิวหนัง มีผื่นแดงบางครั้งอาจมีตุ้มน้ำใสๆ เล็กๆ ส่วนสารที่แพ้นั้นโดยทั่วไป มักเป็นพวกน้ำหอม หรือสารใช้ล้างทำความสะอาดต่างๆ เช่น สบู่ น้ำยาเคมีล้างห้องน้ำ ซึ่งเมื่อคุณทราบว่าตัวเอง แพ้สารใดก็ควรหลีกเลี่ยงสารนั้นๆ หากเสี่ยงไม่ได้ก็พยายามอย่าโดนแสงแดด

          การรักษา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาในท้องตลาดใช้เองเพราะยาส่วนมากมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ และการป้องกันโรคทำได้โดยการทานอาหารเสริมจำพวกโปรตีน และวิตามินบี ซี ดี และอี

วิธีดูแลผิวในช่วงหน้าร้อน

          การดูแลผิวในฤดูนี้ คือ การป้องกันผิวจากแสงแดด และรักษาความชุ่มชื้นของผิว คุณคงทราบกันกันดีอยู่แล้วว่าในแสงแดดประกอบด้วยรังสียูวีเอ และยูวีบี ซึ่งนอกจากจะทำให้ผิวคล้ำแล้ว ยังทำให้ผิวเหี่ยวย่น และแก่ก่อนวัยผิวหนังหยาบกร้านและมีรูขุมขนกว้างอีกด้วย สาเหตุเกิดจากรังสียูวี ไปทำลายคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในชั้นผิวหนังแพ้ ทำให้ผิวขาดความเต่งตึง เกิดการหย่อนคล้อย นอกจากนี้ยังสียูวียังไปทำลายอีลาสติน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่อยู่ใต้ผิวหนังเหมือนคอลลาเจนเป็นตัวที่ทำให้ผิว และหลอดเลือดต่างๆ มีความยืดหยุ่นเด้งดึ๋ง เมื่อมองดูผิวที่ไม่กระซับก็จะเห็นเป็นริ้วรอย รูขุมขนที่ไม่กระซับก็แลดูกว้างขึ้นทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน และยังทำให้ผิวไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้ ผิวจึงแห้งกร้าน

          วิธีป้องกัน ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนโดนแดด ใส่หมวกหรือเสื้อผ้าเพื่อไม่ให้แสงแดดสัมผัสผิวโดยตรง ควรดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้เซลล์ผิวหนัง และทามอยส์เจอไรเซอร์หลังอาบน้ำทั้งเช้าและก่อนนอน

การอาบแดดในหน้าร้อน

          จริงๆ แล้วแดดในบ้านเราจะอาบในฤดูไหนก็ไม่ต่างกันเท่าไรหรอกครับ เพราะแดดแรงตลอดทั้งปี แต่อารมณ์อยากอาบแดดคงมีมากเป็นพิเศษในหน้าร้อน เพราะทะเลเมืองไทยหน้านี้สวยไม่แพ้ที่ใดในโลกครับ

ผิวแทนได้อย่างไร

          ผิวประกอบด้วย ผิวชั้น (Epidermis) และผิวชั้นใน (Dermis) ผิวชั้นนอกเป็นส่วนที่ปกป้องอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในผิวชั้นใน เช่น ต่อมเหงื่อ เส้นประสาท รูขุมขน และเส้นเลือด ดังนั้นผิวชั้นนอกจึงไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงโดยตรง ซึ่งผิวส่วนนี้แหละเป็นส่วนที่เราจะเปลี่ยนได้ เป็นสีแทนได้ ผิวชั้นนอกมีอยู่หลายชั้นซ้อนๆ กันไป ชั้นลึกที่สุดเรียกว่า Stratum Basale ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเมื่อสัมผัสกับแดด กลายเป็นสีแทน การอาบแดด หรือประกอบกิจกรรมกลางแจ้งทำให้ผิวหนังได้สัมผัสกับรังสียูวีโดยตรง ครีมกันแดดที่มี PA และ SPF สูง จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี นับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่รักการอาบแดด เพราะคงไม่มีใครอยากมีผิวเหี่ยวๆ เป็นสีแทนสวยหรอกครับ

เตรียมความพร้อมก่อนอาบแดด

          1.ควร ทำความสะอาดผิวก่อนการอาบแดด เช่น อาบน้ำให้สะอาด ขัดผิวด้วยใยบวบ ถุงมือขัดผิว หรือสครับสูตรอ่อนโยน เพื่อช่วยขจัดผิวที่ตายออกไป ช่วยให้รูขุมขนได้หายใจ และดูดซึมออกซิเจนและครีมกันแดดสู่ผิวได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผิวเรียบเนียบขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังทำให้สีผิวแทนอย่างสม่ำเสมอมากขึ้นด้วยครับ

          2.ดื่ม น้ำให้มากๆ ก่อนออกแดด เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในการชำระล้าง นำของเสียออกจากร่างกาย และคืนความชุ่มชื้นให้ผิว ทำให้ผิวสดใส และป้องกันไม่ให้คุณเป็นลมไประหว่างอาบแดด

          3.ควร บริโภคอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม ผลไม้จำพวกเบอร์รี หรือวิตามินเอ เช่น มะละกอ ฟักทอง แครอต รวมทั้งผักใบเขียว อย่าลืมว่าไม่ว่าจะหาครีมกันแดดแค่ไหนก็ไม่สามารถกันแสงแดดได้ 100% เพื่อต่อด้านแสงแดดที่เป็นอนุมูลอิสระ จึงควรกินอาหารที่มีการต้านอนุมูลอิสระดังกล่าว เพื่อไปช่วยซ่อมแซมผิวหยาบกร้าน และเพิ่มความชุ่มชื่นของผิว ทำให้โครงสร้างผิวไม่สึกหรอก่อนวัยอันควร

          4.หลีก เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะนอกจากจะทำลายผิวแล้ว ยังทำให้ร่างกายเสียน้ำ ส่วนบุหรี่น่ะ ลืมไปเถอะครับ เพราะไม่มีข้อดีใดๆ เลย ทำลายทั้งสุขภาพของคุณและคนรอบข้างครับ

          5.เตรียม ตัวและอุปกรณ์ปกป้องผิวให้พร้อม โดยเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับการใช้งานและเหมาะกับผิวของคุณ อย่าลืมปกป้องเส้นผมและหนังศีรษะที่บอบบางด้วยการสวมหมวก ใช้ออยล์บำรุงผมหรือน้ำมันสกัดจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว โจโจบาออยล์ น้ำมาชโลมผมก่อนไปอาบแดดบ้างนะครับ มีผิวแทนดั่งใจแล้ว ก็ควรมีเส้นผมที่มีสุขภาพดีด้วยครับ

ข้อควรระวังขณะอาบแดด

          ต้องหมั่นทาครีมกันแดดบ่อยๆ ครับ อย่าปล่อยให้ผิวไหม้เป็นอันขาด ถ้ากลัวจะเผลอหลับไปก็ตั้งนาฬิกาปลุกไว้เลยครับ หากคุณจะอาบแดดสลับกับว่ายน้ำ ควรเลือกครีมกันแดดที่มีคำว่า Waterproof หรือ Water Resistant เพราะจะติดทนทานบนผิวดีกว่า จึงปกป้องผิวได้ดีกว่า ผิวบริเวณที่บอบบางและสัมผัสกับแดดได้ง่าย เช่น หน้าผาก จมูก ข้างแก้ม หลัง และไหล่ ควรทาครีมกันแดดให้มากและบ่อยเป็นพิเศษ รวมทั้งสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสงแดดทำร้ายดวงตา

          แต่หากกลัวว่าผิวจะต่างเป็นสีแทนไม่เท่ากัน ควรใช้สำลีชุบน้ำวางไว้บนตาแทน เมื่อสำลีแห้งก็เปลี่ยนใหม่ไปเรื่อย ๆ หลังการอาบแดดผิวหนังจะแห้ง เพราะแสงแดดทำให้น้ำหล่อเลี้ยงภายใต้ผิวระเหยออกไป จึงไม่ควรใช้สบู่อาบน้ำเพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง หากคุณรู้สึกว่าอาบน้ำไม่สะอาด ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ประเภทครีมอาบน้ำ หรือออยล์อาบน้ำแทน หลีกเลี่ยงการขัดผิวในช่วงนี้เพราะผิวกำลังอ่อนแออยู่

          เมื่ออาบน้ำเสร็จและเช็ดตัวพอแห้งหมาดๆ ควรรีบทามอยส์เจอไรเซอร์ทันที เพื่อให้ครีมสามารถซึมเข้าไปในผิวได้อย่างล้ำลึก หากมอยส์เจอไรเซอร์ที่ใช้อยู่ไม่ทำให้ผิวชุ่มชื่นเพียงพอ แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้เป็นแบบครีม เนื่องจากมีความเข้มข้น และสามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้กับผิวได้มากกว่าแบบโลชั่นหรือเจล การใช้ After Sun Lotion ก็มีส่วนช่วยในการบำรุงผิวหลังอาบแดด เพราะมีแร่ธาตุซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผิว จึงเป็นสิ่งที่ควรพกติดตัวไว้ข้างกายยามอาบแดดคู่กับครีมกันแดดครับ

ผิวไหม้เพราะแสงแดด

          แสงแดดให้ความอบอุ่นได้จริงครับ แต่หากเราขาดความระมัดระวัง ความอบอุ่นก็อาจทำให้ผิวร้อนจนไหม้ได้ ใช่ว่าอาการผิวไหม้จะเกิดขึ้นในประเทศเขตร้อนเท่านั้น ประเทศเขตหนาวก็ผิวไหม้ได้ครับ ดูตัวอย่างจากนักสกีทั้งหลายที่ผิวไหม้กลางลานหิมะสิครับ อาการผิวไหม้ (Sun Burn) สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

          ระดับ 1 มี การอักเสบเล็กน้อย อาจมีอาการแดงหรือคันควบคู่กัน ควรหลบเข้าร่มทันทีเมื่อมีอาการ ดื่มน้ำให้มากๆ และทาครีมที่ลด Soothing Effect เช่น พวก Aftersun Lotion เพื่อลดอาการแสบร้อนระคายเคืองอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

          ระดับ 2 ผิวปวดแสบปวดร้อนและมีลักษณะบวมแดงให้ปฏิบัติเหมือนกับระดับ 1 ครับ หากวันต่อๆ มาผิวหนังลอกเป็นขุย ให้ใช้บอดี้ออยล์ทาควบคู่กันไป หากเป็นมากจริงๆ ควรไปพบแพทย์ครับ

          ระดับ 3 ผิวพุพองเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีครับ เพราะถ้าแผลติดเชื้อและผิวหนังอักเสบ อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ ในบางกรมีอาจต้องให้น้ำเกลือด้วยถ้าขาดน้ำมากๆ ซึ่งถ้าผิวไม่ติดเชื้ออะไรรุนแรง ผิวจะหายเป็นปกติใน 1 เดือนครับ

10 ข้อดีของแสงแดด

          1.ป้องกันโรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกอ่อน เพราะช่วยสร้างวิตามินดีที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ทำให้กระดูกแข็งแรง

          2.ป้องกันโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด และทำให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น ทั้งจากวิตามินดีและความอบอุ่นของแสงแดด

          3.ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจแข็งแรง

          4.ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก

          5.ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ทำให้สมองประมวลผลได้เร็วฉับไว

          6.ทำให้จิตใจเบิกบาน ป้องกันโรคซึมเศร้า หากกำลังจิตตกก็ลองไปอาบแดดอ่อนๆ ดูสักพัก รับรองว่าช่วยได้ครับ

          7.ป้องกันโรคอ้วน และช่วยในการลดน้ำหนัก

          8.กระตุ้น การไหลเวียนของเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ผิวจึงมีสุขภาพดี มีเลือดฝาด และผิวหนังแข็งขึ้น รวมทั้งช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน

          9.ป้องกันโรคกล้ามเนื้อจำพวก Myopathy เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปวดกล้ามเนื้อ

          10.กระตุ้นเอนเดอร์ฟินที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า เหมาะกับกีฬากลางแจ้ง

10 ข้อเสียของแสงแดด

          1.รังสียูวีในแสงแดดทำให้ผิวหมองคล้ำ เป็นจุดด่างดำ สีผิวไม่เนียนเรียบ

          2.รังสียูวีและ Visible Light ทำให้เกิดการสร้างเมลานินที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุของฝ้าและกระ

          3.แสงแดดเป็นอนุมูลอิสระ ซึ่งทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยก่อนวัย

          4.ทำให้ผิวแห้งเหี่ยว เพราะคอลลาเจนที่ทำให้ผิวเต่งตึงถูกทำลายโดยรังสียูวี

          5.การโดนแดดแรงๆ หรือเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดผิวไหม้ จนเกิดผิวหนังอักเสบได้

          6.แสง แดดเป็นอันตรายต่อกระจกตาและเลนส์แก้วตา ทำให้เป็นต้อ จึงไม่ควรมองดวงอาทิตย์โดยตรง หรือหลีกเลี่ยงการใช้สายตาในแดดจัดๆ โดยไม่สวมแว่นกันแดด

          7.สิวบางชนิดอาจกำเริบเมื่อโดนแสงแดด

          8.แสงแดดและความร้อนทำให้ร่างกายขาดน้ำ อาจทำให้เป็นลมแดด หรือตะคริวแดด

          9.หากโดนแดดเป็นประจำ อาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้

          10.แสงแดดจะกระตุ้นอาการผื่นคันให้กำเริบในคนที่เป็นโรค SLE



credit http://health.kapook.com/view25837.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก