ยุงลายอาละวาด แพร่ระบาดไข้เลือดออก




ยุงลาย พาหะ ไข้เลือดออก


ยุงลายอาละวาด แพร่ระบาดไข้เลือดออก (Lisa)


          ไข้เลือดออก เป็นโรคอันตรายที่เราต้องระวังกันให้ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงกันยายน เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายแมลงร้าย ซึ่งเป็นพาหนะของโรคไข้เลือดออกชุกชุมที่สุด

ยุงลายชนิดไหนทำร้ายคน

          ยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออก คือ ยุงลายเอดีส เอยิพดิ (Aedes Aegypti) นอกจากเป็นพาหะนำไข้เลือดออกแล้วยังนำไข้เหลืองอีกด้วย โดยยุงชนิดนี้จะพบมากในประเทศที่มีอากาศแบบร้อนขึ้น มักออกหากินในตอนกลางวัน แต่มักหลบซ่อนอยู่ในที่มืดๆ ชอบวางไข่ไว้ตามแหล่งน้ำนิ่งๆ หรือน้ำขังที่สะอาดอย่างเช่น น้ำในตุ่มหรือโอ่งที่ไม่มีฝาปิดให้มิดชิด น้ำในจานรองกระถางต้นไม้ น้ำในจานรองขาตู้ น้ำในแจกัน หรือแม้แต่กระป๋อง และขันน้ำเก่าๆ ที่วางตั้งทิ้งไว้แล้วปล่อยให้มีน้ำขังอยู่นานๆ ก็อาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้

เชื้ออะไรทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก และร้ายแรงขนาดไหน

          เชื้อไข้เลือดออกที่ยุงลายสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นพาหะนำพานั้น คือ เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด เรียกกันสั้นๆ ง่าย ว่าเดงกี 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งความรุนแรงของเชื้อจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และระดับภูมิต้านทานในร่างกายของผู้ป่วย ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 7 ปี แล้วภูมิต้านทานไม่แข็งแรงเพียงพอ อาการป่วยก็จะยิ่งแสดงออกอย่างเฉียบพลันรุนแรง และหากเป็นการติดเชื้อชนิดนี้ซ้ำสอง อาการก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

ไข้เลือดออกติดต่อถึงกันได้อย่างไร

          จากการสำรวจวิจัยไม่เคยมีรายงานว่า โรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อจากมนุษย์ไปสู่มนุษย์ได้โดยตรง แต่ติดต่อถึงกันได้ก็ต่อเมื่อมียุงลายเป็นพาหะ โดยผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ในกระแสเลือดถูกยุงลายกัด จากนั้นเชื้อก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในตัวยุง และจะอยู่ไปจนตลอดชีวิตของยุง ช่วงนี้หากยุงไปกัดใครต่อไป เชื้อไข้เลือดออกก็จะถูกถ่ายทอดเข้าสู่กระแสเลือดของผู้นั้น (ส่วนใหญ่ก็มักเป็นเด็กเล็กๆ ) ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปได้ในวงกว้าง

 ผู้ป่วยมีอาการอย่างไรเมื่อได้รับเชื้อ

          ใน ระยะ 2-3 วันแรกที่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ขึ้นสูงแบบเฉียบพลันหน้าแดงก่ำ กระหายน้ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ อุจจาระเป็นสีดำ จุดเลือดขึ้นตามผิวหนังทั่วตัว ต่อมาไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการซึม ปัสสาวะน้อย กระสับกระส่าย ตัวเย็นชืด รอบปากเขียว ความดันโลหิตต่ำมาก ชีพจรเต้นเบาบ้างเร็วบ้าง มีอาเจียนเป็นเลือด แล้วถ้ารักษาไม่ทันผู้ป่วยก็อาจช็อกหมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้

แพทย์มีขั้นตอนในการรักษา และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างไร

          ขั้นตอนการเยียวยารักษาต้องเป็นไปตามอาการของโรค ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ

          1. ระยะไข้ขึ้นสูง
          ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นสูง 39-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ตามลำตัว และใบหน้าจะแดงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่นาน 2-7 วัน คล้ายเป็นไข้หวัด แต่ไม่มีน้ำมูกไหล หรือไอจามอย่างชัดเจน นอกจากนี้จะมีอาการปวดท้อง บริเวณใต้ชายโครงขวา จุกที่ลิ้นปี่ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล และเลือดออกในอวัยวะภายใน ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย หากจะให้ยาลดไข้กับผู้ป่วยจะต้องให้เป็นยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามให้ยาแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะแอสไพรินจะยิ่งไปกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วยมีปัญหาหนัก ขึ้น หรือเลือดออกมากขึ้น ทางที่ดีเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้ที่ไม่ธรรมดา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกไม่ควรหาซื้อยามากินเอง

          การเยียวยารักษา  ในระยะแรกจำเป็นต้องคอยติดตามดูอาการทุกวันอย่างใกล้ชิด หมั่นเช็ดตัวให้ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ตรวจวัดความดัน ตรวจปริมาณเกล็ดเลือด หากผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ควรให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำเองได้ ก็ต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด

          2. ระยะวิกฤต

          ในระยะนี้ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดลงจนเห็นได้ชัดซึ่งเป็นระยะที่อันตรายมากที่สุด เพราะพลาสมาในกระแสเลือดของผู้ป่วยมีการรั่วซึมออกนอกเส้นเลือด ยิ่งไข้ลดอย่างรวดเร็ว การรั่วซึมของพลาสมาก็จะรั่วออกอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผิวหนังของผู้ป่วยจะมีเลือดซึมออกเห็นเป็นจุดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นทั่วตัว มีการอ่อนแรง ซึม มือเท้าเย็น ปวดท้องมาก ปัสสาวะน้อย ถ่ายเป็นเลือดสีคล้ำๆ ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ ความดันโลหิตต่ำมากๆ แล้วตามด้วยภาวะช็อก ซึ่งถือว่าเข้าขั้นโคม่า (เปอร์เซ็นต์ที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตมีสูงมาก) แต่ถ้าการเยียวยารักษาอาการของผู้ป่วยผ่านพ้นขั้นโคม่านี้ไปได้ ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอด และเข้าสู่ระยะฟื้นตัว

          3. ระยะฟื้นตัว

          เมื่อผู้ป่วยสามารถรอดพ้นจากระยะวิกฤต หรืออาการโคม่าดังกล่าวได้ ก็จะเป็นระยะที่มีการดึงกลับของพลาสมาเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เริ่มมีความอยากอาหาร รับประทานอาหารอ่อนๆ ได้ ปัสสาวะเพิ่มขึ้น การเต้นของหัวใจหรือชีพจรเริ่มกลับเป็นปกติ

 จะมีวิธีป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว ให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างไร

          จนถึงทุกวันนี้ ยาสำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรงยังไม่มี หนำซ้ำวัคซีนป้องก้นก็ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย ซึ่งอีกไม่นานก็จะสามารถนำมาใช้ได้จริงนอกจากนี้ยังมีการค้นคว้า เพื่อจะคุมกำเนิดยุงลายสายพันธุ์ดังกล่าวด้วยเชื้อแบคทีเรียอีกทางหนึ่งด้วย

          แต่ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในตอนนี้ที่ทำได้คือ ต้องระมัดระวังอย่าให้ยุงกัด หากเด็กต้องนอนตอนกลางวันก็ควรจะให้นอนกางมุ้ง อย่าให้เด็กอยู่ในบริเวณที่มืดๆ หรืออับลม ซึ่งมักจะมียุงชกชุม ควรใช้ยากันยุง ปิดฝาตุ่มน้ำ หรือถังเก็บน้ำกินน้ำใช้ทุกจุดในบ้านให้มิดชิด ส่วนตามภาชนะที่มีน้ำขังนิ่งๆ เช่น แจกัน จานรองขาตู้ จานรองกระถาง ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ หรือในอ่างบัวที่ไม่มีการเลี้ยงปลา ก็ควรหาปลาหางนกยูงมาเลี้ยงไว้ให้ช่วยกินลูกน้ำยุงส่วนของเหลือใช้ อย่างกระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่าๆ ที่ทิ้งตากแดดตากฝนไว้ก็ควรเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย และอย่าปล่อยให้มีน้ำขังอย่างเด็ดขาด

          ที่สำคัญพึงระลึกไว้ว่า การช่วยกันกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสามารถช่วยป้องกันโรคไข้เลือด ออกไม่ให้มากล้ำกรายเราได้พันเปอร์เซ็นต์

           Tip การดูแลเด็กที่เป็นไข้แล้วมีอาการชัก

          หากเด็กเป็นไข้แล้วชักระหว่างรับประทานอาหาร ก่อนอื่นต้องจับเด็กนอนตะแคงตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือตะแคงเฉพาะส่วนศีรษะ เพื่อให้อาหารที่มีอยู่ในปากหลุดออกมา จะได้ไม่เสี่ยงต่อการที่เศษอาหารจะตกลงไปในหลอดลมหรือปอด จากนั้นให้หาผ้าชุบน้ำเย็นธรรมดามาเช็ดตัว โดยเฉพาะตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ข้อพับแขนขาให้กับเด็ก หากเด็กยังพอรับประทานยาลดไข้ได้ก็ให้ยา แต่ควรเป็นยาพาราเซตามอลเท่านั้น ไม่ควรเป็นยาแอสไพริน



http://health.kapook.com/view3404.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก