ถ่างขยายหลอดเลือด วิถีใหม่ของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง


 


ถ่างขยายหลอดเลือด วิถีใหม่ของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Slim up)


           จากผลการวิจัยของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติพบว่า ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตนั้น เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในโรคระบบประสาทวิทยา เป็นสาเหตุของการตาย และความพิการที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุมากกว่า 45 ปี โดยถ้าเป็นโรคนี้แล้วแม้รอดชีวิตก็มักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ไม่มากก็ น้อย และจำเป็นต้องได้รับการดูแลในระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย รวมทั้งครอบครัวที่ต้องรับภาระเรื่องการดูแลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ต่าง ๆ

           โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งเป็น 2 โรคหลัก ๆ ได้แก่ หลอดเลือดสมองแตก และหลอดเลือดสมองขาดเลือด โดย หลอดเลือดสมองขาดเลือดเป็นแบบที่พบได้มากที่สุดถึงร้อยละ 80-85 หลอดเลือดที่ตีบเกิดจากผนังหลอดเลือดที่หนาตัว รวมทั้งอาจมีเกร็ดเลือดหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ของเลือดมาสะสมตามผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง ถ้าเป็นมากก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง และเกิดความเสียหายต่อเซลล์สมองบริเวณนั้น ๆ

           ซึ่ง มีอาการบอกเหตุ ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง หรือชาซีกใดซีกหนึ่ง (บางกรณีอาจเป็นทั้งสองซีก) ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หรือสำลัก พูดไม่ได้ หรือฟังไม่รู้เรื่อง (มีปัญหาความเข้าใจด้านภาษา) เวียนศีรษะมาก เดินเซแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มองไม่เห็นซีกใดซีกหนึ่ง อาการที่เกิด อาจเป็นค่อนข้างเร็วกะทันหันภายในเวลาไม่กี่นาทีหรืออาจเป็นหลังตื่นนอนโดย ที่ก่อนเข้านอนยังปกติอยู่ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรรีบเข้ารับการรักษายังสถานพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อลดโอกาสการเกิดอัพฤกษ์-อัมพาตหรือเสียชีวิต

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

           โรคอัมพฤกษ์-อัมพาตนั้นส่งผลกระทบ โดยตรงต่อชีวิต รวมทั้งปัจจัยด้านระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงชั้นได้รับการรักษานั้น มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตอย่างมาก ผู้ป่วยจึงควรได้รับการดูแลและรักษาโดยตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบ ประสาทอย่างใกล้ชิด

           อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้นในระยะสิบปีหลังมานี้ ได้มีการคิดค้นวิธีและเทคนิคการรักษาแบบใหม่ ที่ทำให้การป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมาก ขึ้น เทคนิคดังกล่าวก็คือ การถ่างขยายหลอดเลือด ซึ่งใช้หลักการและวิธีการรักษาแบบเดียวกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีความต่างกันในแง่ของเทคนิค เนื่องจากความต่างกันในแง่ของกายวิภาคและสรีระวิทยาของทั้ง 2 อวัยวะ

การถ่างขยายหลอดเลือด

           การถ่างขยายหลอดเลือด หรือ Angioplasty เป็นวิธีการรักษาหลอดเลือดที่อุดตันโดยใช้สายสวนที่มีบอลลูนเล็ก ๆ อยู่ส่วนปลายใส่เข้าไปให้ถึงบริเวณที่มีหลอดเลือดตีบแคบ แล้วขยายให้พองออกตรงตำแหน่งที่ตีบพอดี แรงกดจะทำให้หลอดเลือดที่ตีบขยายออก

           แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบในประเทศไทยนั้นยังมีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์ในการรักษาจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากหลอดเลือดในสมอง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่อยู่ในกะโหลกศีรษะมีความซับซ้อนมาก การผ่าตัดดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์ อย่างสูง และรวมถึงความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษา อีกด้วย

ขั้นตอนการรักษา

           ผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการถ่างขยายหลอดเลือดได้นั้น ควรเป็นผู้ป่วยที่เคยมีอาการของโรคมาก่อน และ/หรือหลอดเลือดมีการอุดตันหรือตีบเกินร้อยละ 70 จะทำให้เห็นผลการรักษาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่หากผู้ป่วยยังไม่มีการแสดงอาการของโรคหรือหลอดเลือดตีบไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ เพียงแต่รับประทานยาควบคุมก็พอ

            ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่งของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติด้วยวิธีดังต่อไปนี้

      1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
      2. ตรวจหลอดเลือดที่บริเวณคอด้วยการอัลตราซาวนด์ (Carotid Duplex Scan)
      3. ตรวจเอกซเรย์สมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan)
      4. การตรวจหลอดเลือดสมองโดยการฉีดสีโดยตรงเช้าหลอดเลือดที่คอ รวมถึงหลอดเลือดในสมอง เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวดและมีประสิทธิภาพสูงในการวินิจฉัยโรค (MRI & MRA)

           ภายหลัง แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ป่วยสมควรเข้ารับการรักษา ในขั้นตอนของการผ่าตัดถ่างขยายหลอดเลือด แพทย์จะสอดสายสวนหลอดเลือดเป็นท่อเล็ก ๆ เข้าไปในหลอดเลือดที่มีการอุตัน โดยปลายสายจะมีบอลลูนติดอยู่ เมื่อบอลลูนเข้าไปในบริเวณที่มีการอุดตัน แพทย์จะเป่าให้บอลลูนพองตัว เพื่อขยายหลอดเลือดที่มีการอุดตัน ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณนั้นดีขึ้น และบ่อยครั้งอาจมีการใส่ขดลวดสปริงเล็ก ๆ (stent) เพื่อป้องกันการตีบซ้ำภายหลังด้วย

           อย่าง ไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับบริเวณหลอดเลือดที่ตีบ หากเกิดในบริเวณหลอดเลือดที่คอก็จะมีความเสี่ยงไม่มากนัก และมีอัตราความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 95 แต่หากเกิดขึ้นในหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดมีขนาดเล็ก และมีความคดเคี้ยวซับซ้อนกว่ามาก

           ความเสี่ยงของการรักษาด้วยวิธีนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ซึ่งน้อยกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเดิมถึงครึ่งหนึ่งรวมถึงระยะเวลาที่ ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็สั้นกว่า โดยใช้เวลาพัก 1-2 วัน ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการรักษา โดยทางตรงก็คือเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบซ้ำ และทางอ้อมก็คือลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย

credit link  http://health.kapook.com/view24621.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก