ป้องกันตนเอง จากไข้หวัดใหญ่แล้วหรือยัง?


ไข้หวัด 2009


คุณป้องกันตนเองให้ปลอดจากไข้หวัดใหญ่แล้วหรือยัง? (สสส.)

โดย มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่

          โดยทั่วๆ ไปบนโลกนี้ ในแต่ละปีมีผู้ใหญ่ประมาณ 5–15% และเด็กประมาณ 15–42% ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่ทราบว่าอันที่จริงแล้วนั้น โรคไข้หวัดใหญ่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพอยู่วิธีหนึ่งนั่นคือ การฉีดวัคซีน

ไข้หวัดใหญ่คืออะไร?

          ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยโรคนี้บ่อยครั้งจะถูกเรียกกว้างๆ ว่า "โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ" อันที่จริงแล้วการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นจะมีผลกระทบต่อร่างกายหลาย ระบบ

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่

          ติดต่อง่ายและรวดเร็ว มีระยะฟักตัวของโรคสั้น 24 –48 ชั่วโมง
          อาจเกิดอาการต่างๆ นานมากกว่า 1 –2 สัปดาห์ ถึงจะหายได้
          อาจทำให้ต้องพักฟื้นนอนพักอยู่ที่บ้าน 3 – 4 วัน
          เป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงาน หรือแผนการท่องเที่ยวได้
          อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

ไข้หวัดใหญ่ต่างกับไข้หวัดอย่างไร?

          ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดเป็นโรคที่มีอาการคล้ายกันมาก แต่อาการของไข้หวัดใหญ่นั้นรุนแรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยมีไข้สูง (39 –40 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ไอมาก อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปวดเมื่อตามร่างกาย ไข้หวัดใหญ่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ มากมายที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อแพร่โรคได้อย่างไร?

          ไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันได้ง่ายมากจากการหายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในละอองฝอย จากการจาม หรือไอของผู้ป่วย หรือจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับ เชื้อและนำเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่?

          ทุกๆ คนมีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ แม้แต่คนที่มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ก็มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ผู้ป่วยยังสามารถที่จะแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้โดยที่ไม่รู้ตัวอีกด้วย เพราะหลังจากผู้ป่วยรายนั้นได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ต้องใช้เวลา 1 –4 วัน ก่อนที่อาการของโรคจะปรากฏ

          คนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด และโรคไต ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากมายที่เป็นอันตรายและรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกัน

          รักษาร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงความเครียด บุหรี่ สุรา และระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็นหรืออากาศเปลี่ยนแปลง

          รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

          ระมัดระวังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และช่วงอากาศเย็น ซึ่งมักมีการแพร่กระจายโรคได้มากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ

          ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ควรระมัดระวังไม่แพร่เชื้อ โดยระวังการไอจามรดผู้อื่น และใช้ผ้าปิดปากทุกครั้งเมื่อไอ หรือจาม

เราจะได้อะไรจากการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่?

          ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และการเสียชีวิตสำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
          ลดอัตราการลาป่วยและการการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล
          ลดอัตราการขาดงาน ขาดโรงเรียน หรือทำลายแผนการเดินทางในช่วงวันหยุดของคุณ
          ลดการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ร่วมงานต่างๆ


http://health.kapook.com/view3783.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก