มะเร็งต่อมน้ำเหลือง


มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทย)

          เป็น อีกหนึ่งโรคมะเร็งที่เคยได้ยินกัน แต่อาจจะไม่รู้จักกันมากนัก วันนี้เรามีข้อมูลเรื่องมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจากชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วย มะเร็งแห่งประเทศไทย มาบอกกันค่ะ

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองคืออะไร

          มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นจากเซลล์ของต่อมน้ำเหลืองโดยตรง ส่วนมะเร็งที่ลุกลามจากอวัยวะอื่นแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง อาจทำให้เกิดอาการต่อมน้ำเหลืองโตได้ แต่ไม่เรียกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่จะเรียกตามมะเร็งที่อวัยวะนั้นแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง เช่น มะเร็งเต้านมลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต

          เซลล์ที่ต่อมน้ำเหลืองประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดลิมโฟไซต์เป็นส่วน ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นจากเซลล์ลิมโฟไซต์ที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมีหลายชนิดต่างกัน เช่น เซลล์ลิมโฟไซต์ชนิดบีเซลล์บีและเซลล์ทีเป็นต้น เมื่อกลายเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงเรียกว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือลิมโฟมา(lymphoma) ซึ่งคำว่าลิมโฟมามาจากคำว่าลิ้ม (lymph) แปลว่าน้ำเหลือง และโอมา(oma) แปลว่าก้อนเนื้องอก

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีกี่ชนิด

          เราสามารถแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ง่าย ๆ เป็น 2 ชนิด ดังนี้

          1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดคิน (Hodgkin lymphoma) ประกอบด้วยเซลล์ที่มีลักษณะจำเพาะ ชื่อเซลล์รีดสะเพินเบิรร์กและเซลล์ชนิดอื่น ๆ

          2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ใช่ฮอดคิน (non-hogkin lymphoma) พบมากกว่ามะเร็งชนิดฮอดคินมากกว่า 8-9 เท่า และพบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งมะเร็งชนิดนี้อาจแบ่งย่อยได้ เป็น 3 ชนิด ดังนี้

          ชนิดเกรดต่ำ เจริญเติบโตช้า
          ชนิดเกรดปานกลาง เจริญเติบโตปานกลาง
          ชนิดเกรดสูง เจริญเติบโตเร็วและการดำเนินโรครุนแรงกว่าชนิดอื่น

การแบ่งระยะของโรค

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

            ระยะที่ 1 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งเดียว

            ระยะที่ 2 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ 2 ตำแหน่งหรือมากกว่าด้านเดียวกันของกระบังลม

            ระยะที่ 3 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ทั้ง 2 ด้านของกระบังลม

            ระยะที่ 4 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดนอกต่อมน้ำเหลือง หรือลุกลามเข้าสู่ไขกระดูก

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

          สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัดในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตามพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ดังนี้

          1. กัมมันตภาพรังสี ผู้ที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเป็นมะเร็งหลายชนิด รวมทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และผู้ที่เคยมีประวัติฉายแสงอาจพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ แสดงว่ารังสีเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          2. การติดเชื้อไวรัส การตรวจเนื้อเยื่อของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองพบว่า มีเชื้อไวรัสชนิดเอ็พสะไตน์ บาร์ และมีเมื่อนำเชื้อไวรัสดังกล่าวใส่ในเซลล์เพาะเลี้ยง สามารถทำให้เซลล์ต่อมน้ำเหลืองเป็นอมตะแบ่งตัวได้เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของเซลล์มะเร็ง แสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการติดเชื้อไวรัส และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          3. โรคเอดส์ ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อหลายชนิดได้ง่าย และทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เกิดในสมองได้ด้วย

          4. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ฟอกไต มีโอกาสเกิดมะเร็งได้หลายชนิดเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ และอาจเป็นผลทางอ้อมจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอ็พสะไตน์บาร์ ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

          5. การติดเชื้อแบคทีเรียเฮอลิโคแบคเตอร์ไพโลไรที่กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหาร กระเพาะอาการอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารได้ การรักษาการติดเชื้อดังกล่าวด้วยยาปฏิชีวนะ และยาลดกรดจะสามารถป้องกันการ เกิดมะเร็งที่กระเพาะอาหารจากเชื้อดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารการักษาโรคติด เชื้อดังกล่าวร่วมกับการรักษาโรคมะเร็ง สามารถควบคุมโรคที่มากกว่าสองในสามของผู้ป่วย

          6. ผู้ป่วยที่เปลี่ยนอวัยวะ เช่น เปลี่ยนไต ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้อวัยวะที่เปลี่ยนเน่าสลาย การที่ภูมิคุ้มกันต่ำจากยาทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          7. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคขาดแกมม่าโกลบูลิน โรควิสคอตต์ อัลดริช เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้มากกว่าคนปกติ

          8. โรคภูมิคุ้มกันต่อตนเอง (autoimmune diseases) เช่น โรคโจเกร้น โรคต่อมทัยรอยด์อักเสบฮาชิโมโต้ โรคเอสแอลอี โรครูมาตอยด์ อาจเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

          9. ไวรัสที่เซลล์ลิมโฟโทรฟิคชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดที่เซลล์ลิวคิเมียลิมโฟมาในผู้ใหญ่

          10. ไวรัสตับอักเสบชนิดซี มีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดโตช้า

          11. อายุและเพศ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด พบบ่อยในผู้ป่วยอายุน้อย บางชนิดพบในผู้ป่วยอายุมาก เพศชายเพศหญิงพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบ่อยต่างชนิดกันได้

          12. เศรษฐานะ พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอชคิน พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีเศรษฐานะดี และมีการศึกษาดี แต่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

อาการและอาการแสดง

          อาการที่พบบ่อย คือ ต่อมน้ำเหลืองโตไม่เจ็บ เช่น คลำก้อนได้ที่คอ ที่ขาหนีบ หรือในร่องเหนือกระดูกไหปลาร้า อาการทั่วไปที่พบคือ เบื่ออาหาร น้ำหลักลด และผอมลง เหงื่อแตกตอนกลางคืน มีไข้ไม่ทราบสาเหตุ คันตามตัว ปวดเวลาดื่มเหล้า ปวดหลังเนื่องจากต่อมน้ำเหลืองหลังช่องท้องโต ปวดกระดูกจากมะเร็งทำลายกระดูก ปวดท้องจากอาการตับโตหรือม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโต หรือไตบวมจากต่อมน้ำเหลืองข้างท่อไตโตกดท่อไต ปวดประสาทจากมะเร็งกดไขสันหลังกดเส้นประสาท

          การตรวจร่างกายอาจพบต่อน้ำเหลืองโตหลายตำแหน่ง หลายก้อนคลำต่อมน้ำเหลืองที่โตจะรู้สึกแข็งหยุ่น ๆ อาจกดเจ็บได้ อาจพบต่อมทอนซิลโตและต่อมน้ำเหลืองที่คอหอยโต รวมเรียกว่า วงแหวนวาลเดเยอร์ อาจพบตับม้ามโตหรือมีก้อนในท้อง

การวินิจฉัยโรค

          เมื่อมีอาการและการตรวจที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ต้องยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตัดต่อมน้ำเหลืองที่โตมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ดูลักษณะของเซลล์มะเร็ง ย้อมพิเศษตรวจแยกชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บางครั้งอาจต้องตรวจเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอน หรือตรวจดีเอนเอ

          เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองการตรวจขั้นต่อไปคือ การตรวจหาระยะของโรค นิยมตรวจด้วยการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของปอดและช่องท้อง

          เจาะไขกระดูกตรวจว่ามะเร็งเข้าไขกระดูกหรือไม่ ในสมัยก่อนมีการฉีดสีเข้าสายน้ำเหลืองที่เท้าทั้งสองข้าง เพื่อตรวจต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ซึ่งทำได้ยาก ดังนั้นในปัจจุบันนี้จึงไม่นิยมการตรวจด้วยการฉีดสีเข้าสายน้ำเหลือง

          ถ้าสงสัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ในทางเดินอาหาร ต้องตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่กระเพาะอาหาร หรือกลืนแป้งตรวจลำไส้เล็ก

          นอกจากนี้ยังมีการเจาะเลือดตรวจเม็ดเลือด การทำงานของตับไตระดับกรดยูริกและแคลเซี่ยมในเลือด ระดับอิมมูโนโคลบูลินในเลือด

          ในปัจจุบันนี้การตรวจเพ็ทสแกน และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์มีความไว และการจำเพาะในการตรวจรอยโรค และระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ดีกว่าเอ็กซเรย์ทั่วไป แต่มีราคาสูงกว่า

          การตรวจแกลเลี่ยมสแกน ช่วยบอกว่ามีรอยโรคเหลืออยู่ภายหลังการรักษาหรือไม่ โดยเฉพาะที่ต่อมน้ำเหลืองกลางทรวงอกหรือหลังช่องท้อง

          ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองอาจต้องตรวจเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็ก(เอ็มอาร์ไอ) หรือเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง ถ้าสงสัยมะเร็งเข้าเยื่อหุ้มไขสันหลัง อาจต้องเจาะน้ำไขสันหลังตรวจเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดเบอร์กิตหรือชนิดลิมโฟ บลาสติก

การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งที่ไวต่อรังสีรักษา และยาเคมีบำบัด สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีวิธีรักษาหลายวิธีดังนี้

          1. รังสีรักษา  : การฉายแสงรังสีรักษาสามารถควบคุมมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ดี ทำให้ก้อนมะเร็งยุบได้อย่างรวดเร็ว

          2. ยาเคมีบำบัด : มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน ยาที่นิยมใช้คือสูตรยาช้อป (CHOP) ซึ่งย่อมมาจาก ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ ยาเอเดรียมัยซิน ยาออนโควินหรือวินคริสตีน ยาเพร็ดนิโซโลน

          3. ยาสเตียรอยด์ : มะเร็งต่อมน้ำเหลืองตอบสนองดีต่อยาสะเตียรอยด์ แต่จะได้ผลดีเมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด

          4. การเปลี่ยนไขกระดูก : การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการเปลี่ยนไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเซลล์ตัวอ่อนของไขกระดูก ทำให้การตอบสนองต่อยาดีขึ้น

          5. ยารักษาตามเป้าหมาย

               ยาแอนติบอดีต่อซีดี 30 ที่ผิวเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ จัดเป็นยาที่รักษาตามเป้าหมาย สามารถใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ได้ผลดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ดื้อยาเคมีบำบัดหรือโรคเป็นซ้ำ ชื่อยาเรทูซิแม็พ

               ยาแอนติบอดีติดฉลากสารกัมมันตรังสี ให้การตอบสนองสูงถึงร้อยละ 50-80 เช่น ยาแอนติบอดีต่อซีดี 20 ที่ผิวเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองติดฉลากด้วยสารกัมมันตรังสียิบเทรียม 90 ชื่อยา ไอบริทูโมแม็พ เป็นต้น

          6. อิมมูนบำบัด : ยาอินเตอเฟียรอนอัลฟ่า ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้โดยเฉพาะชนิดโฟลิคูลาร์

          7. ยาเคมีบำบัดชนิดทา : มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจเกิดที่ผิวหนังได้เรียกว่า โรคลิมโฟมาคิวทิส สามารถรักษาด้วยการฉายแสงรังสีอิเล็คตรอนที่ผิวหนัง รักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดทา หรือฉีดยาเคมีบำบัดรักษาได้

          มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่ไวต่อยาหลายชนิด และรังสีรักษามีการพยากรณ์โรคที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นควรจะวินิจฉัยให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ๆ และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ละชนิด แต่ระยะ และเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพดี

          ถึงแม้ผู้ป่วยจะหายจากโรคแล้ว จำเป็นต้องติดตามและประเมินผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจการกลับเป็นซ้ำของโรค หรือการเกิดมะเร็งชนิดอื่น รวมทั้งผลข้างเคียงระยะยาวที่เกิดจากการรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย และจิตใจของผู้ป่วยให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติ

          การ รักษาโรคอื่นของผู้ป่วยที่เป็นร่วมด้วย มีความสำคัญที่จะช่วยให้ผลการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองดีขึ้น เช่น การรักษาโรคเอดส์ที่เป็นร่วมกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฮอลิโคแบคเตอร์ไพโรไล เป็นต้น




www.kapook.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก