ปัสสาวะเล็ด ปัญหาไม่เล็กของผู้หญิง


ปัสสาวะเล็ด

ปัสสาวะเล็ด ...ปัญหาไม่เล็กของผู้หญิง (mcot)


         ปัสสาวะเล็ด เป็นปัญหาที่พบมากในเพศหญิง เนื่องจากปัจจัยบางอย่าง เช่น การตั้งครรภ์ การคลอด การผ่าตัดทางนรีเวช โดยเฉพาะการผ่าตัดมดลูก จากการศึกษาพบว่า ประชากร 1 ใน 5 ที่เป็นโรคนี้เป็นหญิงมากกว่าชายถึง 3 เท่า

         ความ เข้าใจผิดที่ว่า อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดโรค ประกอบกับรู้สึกอายุที่เป็นผู้ที่เป็นโรคนี้ จึงมักมาพบแพทย์เมื่อเป็นมานานหรือมีอาการมากแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
 
หลากสาเหตุ... ปัสสาวะเล็ด

         สาเหตุ สำคัญคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้งส่วนในของการทำงาน และด้านกายภาพของอวัยวะที่มีส่วนในการควบคุมการปัสสาวะ เช่น สมองและระบบประสาทที่ควบคุมการกลั้นและขับปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ระบบหูรูด และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน    

         ในวัยเด็ก เกิดจากระบบการควบคุมการปัสสาวะยังไม่เข้าที่และพฤติกรรม รวมทั้งอุปนิสัยบางอย่าง มักออกมาในรูปแบบการปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน

         ในวัยสาว มักเกิดจากอุปนิสัยบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มน้ำน้อย กลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือเป็นเวลานาน ทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการบีบตัวผิดปกติจนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

         สำหรับ วัยกลางคน คนที่เคยตั้งครรภ์หรือเคยผ่าตัดมดลูกมาก่อน อาจมีการเสื่อมของหูรูดและการหย่อนยานของผนังช่องคลอด รวมทั้งบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะปิดไม่สนิท เกิดอาการปัสสาวะรั่วออกมาได้  ในวัยสูงอายุและประจำเดือนหมดแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลง ทำให้เยื่อบุในท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่น ระบบการปิดกลั้นปัสสาวะของท่อปัสสาวะลดลง ทำให้ปัสสาวะรั่วซึมได้เช่นกัน

นี่แหละ...อาการบ่งชี้ ปัสสาวะเล็ด

         หลาก อาการของ ปัสสาวะเล็ด ได้แก่  มีความรู้สึกว่าจะต้องปัสสาวะ แต่ไม่สามารถไปปัสสาวะได้ทัน  ไอ จาม มีปัสสาวะเล็ดออกมา อาการปัสสาวะไหลราดโดยไม่รู้ตัว ปัสสาวะไหลราดตลอดเวลา ปัสสาวะรดที่นอน หรือปัสสาวะหยดหลังการปัสสาวะ

หนทางแก้ไข ปัสสาวะเล็ด

         การ รักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคว่า เกิดความบกพร่องที่อวัยวะในการควบคุมการปัสสาวะส่วนใดโดยทั่วไปแนวทางในการ รักษามีอยู่ 3 วิธี คือ พฤติกรรมบำบัด การรักษาทางยา และการผ่าตัด ผู้ที่มีอาการไม่มากควรเริ่มจากการทำพฤติกรรมบำบัด นั่นคือการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยการขมิบหูรูด ลักษณะเหมือนตอนที่กลั้นปัสสาวะ ทำอย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง แล้วเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้ต้องมีความอดทน เพราะต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะเห็นผลและควรทำต่อเนื่องเพื่อลดการเกิด ซ้ำ             

         บาง ครั้งก็ต้องร่วมกับการรักษาทางยา เช่น ยาช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะ ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น หรือใช้อุปกรณ์ในการลดการรั่วซึมของปัสสาวะ เช่น อุปกรณ์สอดช่องคลอด เพื่อยกและกดบริเวณทางออกหรือคอของกระเพาะปัสสาวะไว้ หรืออุปกรณ์สอดใส่ท่อปัสสาวะ หรือการใช้ผ้าอนามัยเพื่อซับน้ำปัสสาวะที่รั่วซึมไว้

         แต่ ถ้ามีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ในกรณีที่มีการหย่อนของคอกระเพาะปัสสาวะ จะทำการผ่าตัดเพื่อพยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ ถ้ามีการหย่อนของผนังช่องคลอดร่วมด้วยก็จะทำการผ่าตัดซ่อมแซมผนังช่องคลอด ที่เราเรียกกันทั่วไปว่าการทำรีแพร์ด้วย

4 วิธีง่ายๆ ป้องกัน ปัสสาวะเล็ด ได้

         1.ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

         2.ไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือนานเกินไป เพื่อป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติ

         3.หลีกเลี่ยงภาวะที่ต้องใช้แรงเบ่งภายในช่องท้องมากและอาการท้องผูก

         4.ออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยการขมิบหูรูดเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความกระชับ และยังช่วยให้ระบบการขับถ่ายดียิ่งขึ้นด้วย

         ปัญหา ใหญ่ก็กลายเป็นปัญหาเล็กๆ ที่ป้องกันและแก้ไขได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค และหมั่นดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ เหล่านี้ คุณผู้หญิงยุคใหม่ก็ห่างไกลโรคปัสสาวะเล็ดแล้วครับ


http://health.kapook.com/view1501.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก