หมอเตือน หนาว-เครียด กระตุ้น โรคกลีบกุหลาบ


โรคกลีบกุหลาบ
หมอเตือน หนาว-เครียด กระตุ้น โรคกลีบกุหลาบ (มติชน)

          นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์สาขาโรคผิวหนังและภูมิแพ้ผิวหนัง เปิดเผยว่า ฤดูหนาวมักพบการระบาดและกำเริบของโรคกลีบกุหลาบ (pityriasis rosea) ได้บ่อย ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่มีผื่นลักษณะเฉพาะ เริ่มแรกมีผื่นเรียกว่า ผื่นแจ้งข่าว อีก 1-2 สัปดาห์ผื่นกระจายไปทั่วตามแนวลายเส้นของผิวหนัง เป็นอยู่นานราว 2-6 สัปดาห์ พบโรคนี้บ่อยที่สุดในคนกลุ่มอายุ 15-40 ปี อาจมีอาการนำมาก่อนผื่นขึ้น ได้แก่ อาการเหนื่อยเมื่อยล้า, คลื่นไส้,เบื่ออาหาร, ไข้, ปวดข้อ, ต่อมน้ำเหลืองโต และปวดศีรษะ ผู้มีประวัติโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน

          ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบ มีอาการคัน ซึ่งร้อยละ 25 อาจคันรุนแรงมาก เชื่อว่าเชื้อไวรัส human herpesvirus 6 (HHV-6) และ HHV-7 น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้ ที่น่าสนใจว่าไข้ออกผื่นในเด็กที่ชื่อไข้ผื่นกุหลาบ หรือไข้หัดกุหลาบ (roseola infantum) มีลักษณะเฉพาะ มีไข้นำมาก่อน 3 วัน พอไข้ลงจะมีผื่นขึ้น

          โดยพบ ว่ายาบางตัวทำให้เกิดโรคกลีบกุหลาบได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (metronidazole), ยารักษาสิว (isotretinoin) ยาลดไข้แก้ปวด (aspirin) ยาฆ่าเชื้อรา (terbinafine) ผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้,โรคเซ็บเดิร์ม,โรคสิว และรังแค สูงกว่าคนทั่วไป และพบว่ามักมีการกำเริบของผื่นมากขึ้นในคนที่มีความเครียดสูงอีกด้วย

          นพ.ประวิตร กล่าวว่า โรคกลีบกุหลาบอาจมีผื่นคล้ายผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ที่เรียกว่าระยะเข้าข้อออกดอก แพทย์จึงอาจตรวจเลือดหาซิฟิลิสเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค โรคนี้จะทุเลาลงไปได้เอง โดยทั่วไปแพทย์จึงรักษาตามอาการ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ, การมีเหงื่อออก การสัมผัสสบู่ เพราะทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองผื่นจึงมีอาการกำเริบ อาจใช้ยาทาลดอาการคัน ในกรณีที่เป็นมาก หรือเป็นทั่วตัวควรพบแพทย์

          สามารถ พบโรคกลีบกุหลาบได้ตลอดปี แต่มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ในฤดูหนาว และฤดูฝน ยิ่งคนที่มีแนวโน้มผิวแห้งอยู่แล้วจะยิ่งมีอาการคันมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งความเครียดและอากาศหนาวเย็นที่ทำให้ผิวแห้ง ล้วนก่อให้เกิดการกำเริบและอาการคันอย่างรุนแรงในโรคกลีบกุหลาบ


http://health.kapook.com/view6935.html