วัณโรค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 วัณโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมากคือเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน ยกเว้นไม่ทนทานต่อแสงแดด คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวัณโรคเป็นโรคเกี่ยวกับปอด แต่ความจริงแล้ว เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกายเช่น ที่ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง ปอด แต่ที่พบและเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบันคือ "วัณโรคปอด" มักพบในคนแก่คนที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่น ๆ มาก่อน เช่น หวัด หัด ไอกรน พวกติดยาและโรคเอดส์และ ในคนที่ตรากตรำทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ขาดอาหาร ดื่มเหล้าจัด หรือในคนที่มีประวัติใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรค เช่น นอนห้องเดียวกัน หรืออยู่บ้านเดียวกัน และพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคที่เคยลดลง มีการแพร่กระจายมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วเนื่อง จากติดต่อได้ง่ายโดยระบบทางเดินหายใจและมีอันตรายถึงชีวิต

อาการ

  1. ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ บางรายอาจมีเสมหะสี เหลือง เขียว หรือไอปนเลือด
  2. เจ็บแน่นหน้าอก
  3. มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น
  4. เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย
  5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นวัณโรค

  1. กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งให้อย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด
  2. หลังกินยาไประยะหนึ่ง อาการไอและอาการทั่วๆไปจะดีขึ้น อย่าหยุดกินยาเด็ดขาด
  3. ควรงดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ฯลฯ
  4. สวมผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
  5. เปลี่ยนผ้าปิดจมูกที่สวม บ่อยๆเพราะผ้าปิดจมูกเอง ก็เป็นพาหะได้เช่นกัน
  6. บ้วนเสมหะลงในภาชนะ หรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด
  7. จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก ให้แสงแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
  8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อปลา และนม ไข่ ผัก และผลไม้
  9. นอนกลางวันอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำโปรตีนจากอาหารรัปประทานเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
  10. ไม่เที่ยวในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เพราะ อาจนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้อื่น หรือ ติดเชื้อโรคจากผู้อื่นเข้าสู่ร่างกายเพิ่มเติม
  11. ในระยะ 2 เดือนแรกหลังจากเริ่มการรักษา (เรียกว่า "ระยะแพร่เชื้อโรค") ผู้ป่วยควรจะนอนในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และ นอนแยกห้องกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงการรับประทานอาหาร การใช้ถ้วยชาม และเสื้อผ้า ควรแยกล้าง หรือ แยกซักต่างหาก และต้องนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  12. หลังจากแพทย์ลงความเห็นว่าพ้นจากระยะแพร่เชื้อโรคแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวได้ดังเช่นเดิม เช่น การนอน การรับประทานอาหาร และซักผ้าร่วมกับสมาชิกผู้อื่น โดยในระยะนี้ผู้ป่วยต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4 เดือน (โรควัณโรคจะต้องใช้เวลาในการรักษาระยะสั้นที่สุด 6 เดือน ยาวที่สุด 1 - 2 ปี)

การป้องกัน

  1. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดยเฉพาะตอนบ่ายๆหรือค่ำๆ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  3. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การส่ำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรค จะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  4. ประชาชนทั่วไป ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซ์เรย์ปอดหรือตรวจเสมหะ (AFB) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  5. ในเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี (Bacilus Calmette Guerin) รวมถึงผู้ที่ทำการทดสอบทูเบอร์คูลินเทสท์ (Tuberculin test) ให้ผลเป็นลบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

แนวทางการรักษา

ในปัจจุบัน โรควัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลาการรักษาสั้นที่สุด 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองว่ากินยาครบตามที่แพทย์สั่ง หรื่อไม่ ถ้ากินๆหยุดๆอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อวัณโรคดื้อยา (MDR TB,XDR TB) ได้ จะทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานและการรักษายากมากยิ่งขึ้น

ยาวัณโรคในปัจจุบันหลักๆจะมีอยู่ 4 ชนิดคือ
  1. Isoniazid
  2. Rifampicin
  3. pyrazinamide
  4. Ethambutol
ยาที่กล่าวมาในข้างต้นนี้มีผลข้างเคียงของยาทุกตัว จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ถ้าซื้อหรือหามารับประทานเองอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

วัณโรคกับเอดส์

วัณโรคและโรคเอดส์ เป็นแนวร่วมมฤตยูที่สามารถเพิ่มผลกระทบให้มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่า ผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอดส์ โดยผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ จะมีผลกระทบต่อวัณโรค ทั้งในส่วนของการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในด้านการรักษา ผู้ป่วยมักขาดยา กินยาไม่สม่ำเสมอ นำไปสู่การดื้อยา ทำให้มีอัตราการรักษาหายต่ำ และจะส่งผลให้อัตราการตายสูง นอกจากนี้ ยังพบอัตราการกลับเป็นวัณโรคซ้ำมากขึ้น รวมทั้ง นำเชื้อวัณโรคดื้อยาแพร่กระจายแก่ผู้อื่นได้ง่าย

credit  http://th.wikipedia.org