ปวดส้นเท้า ฤาจะเป็นพังผืดส้นเท้าอักเสบ?

ปวดส้นเท้า พังผืดส้นเท้าอักเสบ

พังผืดส้นเท้าอักเสบ (หมอชาวบ้าน)
สารานุกรมทันโรค นพ.สุรเกียรติ อาซานานุภาพ

          พังผืด ส้นเท้าอักเสบ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดส้นเท้า มีอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกปวดส้นเท้าใน 2-3 ก้าวแรกที่ลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนตอนเช้า และหลังจากเดินต่อไป 2-3 นาทีก็จะทุเลาไปเอง โรคนี้อาจเป็นเรื้อรัง แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด

          ชื่อภาษาไทย : พังผืดส้นเท้าอักเสบ

          ชื่อภาษาอังกฤษ : Plantar fasciitis

สาเหตุ

          พังผืดที่ส้นเท้าทำหน้าที่คล้ายตัวกันกระแทกของกระดูกเท้า ถ้าหากมีแรงกดดันต่อพังผืดนาน ๆ หรือซ้ำ ๆ ก็ทำให้เกิดการอักเสบได้

          แรงกดดัน อาจเกิดจากการมีน้ำหนักถ่วง (เช่น คนอ้วน ยกของหนัก) หรือเกิดจากการวิ่ง เต้นรำ เดินขึ้นบันได หรือยืนนาน ๆ

          นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อน่อง หรือเอ็นร้อยหวายขาดความยืดหยุ่น โครงสร้างเท้าผิดปกติ (ส้นเท้าแบน หรือมีความโค้งสูง) ใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะ (เช่น พื้นรองเท้าบาง ส้นสูง ส้นแข็ง ขาดความยืดหยุ่น)

          โรคนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน (ซึ่งอธิบายสาเหตุไม่ได้) และโรคข้ออักเสบ เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์

อาการ

          มี ลักษณะเฉพาะ คือ รู้สึกปวดส้นเท้าคล้ายถูกมีดปักใน 2-3 ก้าวแรกที่ลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนตอนเช้า และหลังจากเดินต่อไป 2-3 นาทีก็จะทุเลาไปเอง บางครั้งอาจรู้สึกปวดเวลาเดินขึ้นบันได ยืนหรือเดินบนปลายเท้า หลังจากยืนนาน ๆ หรือหลังจากลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง

          มักจะปวดเพียงข้างเดียว อาการอาจค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย หรือเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรงก็ได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะบอกไม่ถูกว่าอะไรเป็นเหตุกระตุ้นให้ปวด เนื่องเพราะอาการมักจะเกิดหลังจาการเกิดปัจจัยกระตุ้น (เช่น วิ่งออกกำลังกาย ยืน หรือเดินบนปลายเท้า เปลี่ยนรองเท้าใหม่) 12-36 ชั่วโมงไปแล้ว

          อาการปวดอาจเป็นเพียงเล็กน้อยน่ารำคาญ หรือปวดรุนแรงก็ได้

          ส่วนมากจะเป็นอยู่นาน 2-3 เดือน ก็ทุเลาไปเอง บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นต่อเนื่องอยู่เรื่อย ๆ

การแยกโรค

          อาการปวดบริเวณส้นเท้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

          ข้อเท้าอักเสบ มักมีอาการปวดที่ข้อเท้า อาจมีอาการบวมแดงร้อนที่บริเวณข้อเท้าร่วมด้วย

          ข้อเท้าแพลง หรือกระดูกส้นเท้าแตก มักมีประวัติเดินเท้าพลิกมาก่อน หากขยับข้อเท้าจะรู้สึกปวดมาก

          กระดูกส้นเท้างอก เกิดจากผลึกหินปูนงอกออกมาจากกระดูกส้นเท้า มักจะเจ็บที่ส้นเท้าเวลาเดินลงน้ำหนักทุกครั้ง ตลอดทั้งวัน

ปวดส้นเท้า พังผืดส้นเท้าอักเสบ

การวินิจฉัย

          แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก ได้แก่ อาการปวดส้นเท้า 2-3 ก้าวแรกที่เดินหลังตื่นนอนตอนเช้า โดยไม่มีบวมแดงร้อนที่ส้นเท้า

          ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือปวดรุนแรง แพทย์จะทำการเอกซเรย์หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน

การดูแลตนเอง

          ถ้ามีอาการปวดส้นเท้า โดยไม่มีอาการข้ออักเสบ หรือข้อบวมแดงร้อน ควรปฏิบัติตัวดังนี้

          หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า และกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ เช่น ยกของหนัก วิ่ง เดิน หรือยืนนาน ๆ หรือใส่รองเท้าส้นสูง

          ประคบด้วยน้ำแข็งวันละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 15-20 นาที

          บริหารส้นเท้า

          ควร พบแพทย์ ถ้าไม่ทุเลาภายใน 2 สัปดาห์หรือปวดรุนแรง มีอาการบวมแดงร้อนที่ข้อเท้า หรือโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น ส้นเท้าแบนหรือมีความโค้งสูง

การรักษา

          นอกจากแนะนำข้อปฏิบัติตัว (ดังกล่าวไว้ในหัวข้อ "การดูแลตนเอง") แล้ว แพทย์อาจให้กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) และอาจต้องให้ยาป้องกันโรคกระเพาะ (เช่น ยาเม็ดโอเมพราโซล) กินร่วมด้วย ถ้าได้ผลอาจต้องให้นาน 6-8 สัปดาห์ หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้ยาสตีรอยด์ฉีดเข้าพังผืดส้นเท้า

          บางรายอาจต้องทำกายภาพบำบัด หรือใช้อุปกรณ์ แก้ไขภาวะผิดปกติของเท้า (เช่น รองเท้า เทปพันเท้า)

          บางรายอาจใช้เฝือกใส่เวลาเข้านอน เพื่อยืดกล้ามเนื้อน่องและพังผืดส้นเท้า

          ส่วนน้อยที่อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน

          ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากอาการปวดเรื้อรัง ทำให้รู้สึกรำคาญหรือทรมาน

การดำเนินโรค

          ส่วนมากจะเป็นอยู่นาน 2-3 เดือน ก็ทุเลาไปเอง บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นเรื้อรังอยู่เรื่อย  ๆ

การป้องกันโรค

          โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

          ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกิน)

          อย่าเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่แข็ง

          เลือกสวมใส่รองเท้าที่พื้นหนา แต่มีความยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง

          เวลาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อน และอย่าใส่รองเท้ากีฬาที่เสื่อมสภาพ
         
          ก่อนลุกจากเตียงหลังตื่นนอน ควรทำการบริหารยืดพังผืดส้นเท้า โดยการจับนิ้วเท้าเหยียดขึ้น

ความชุก

          โรคนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดส้นเท้า พบได้บ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น มักพบในคนอ้วน นักกีฬา ผู้ที่ทำงานหนักหรือสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม


credit  http://health.kapook.com/view27662.html

ขอขอบคุณข้อมูลจาก