ฮิคิโคโมริ อาการของคนเก็บตัว

ฮิคิโคโมริ
ฮิคิโคโมริ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ ฮิคิโคโมริ แต่ไม่เข้าใจว่า ฮิคิโคโมริ คืออาการอะไร วันนี้เรามีข้อมูลของ ฮิคิโคโมริ มาฝากกันค่ะ

          ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า "ฮิคกี้" เป็นปรากฎการณ์ (Phenomenon) ไม่ใช่ โรค (Syndrome) อย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยเป็นคำอธิบายถึงพฤติกรรมของเด็กที่แยกตัวออกมาจากสังคม พยายามพบเจอผู้คนให้น้อยที่สุด

อาการของ ฮิคิโคโมริ

          คน ที่เป็น ฮิคิโคโมริ มักจะเก็บตัวในห้องส่วนตัว หรือในบ้านเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่ยอมไปโรงเรียน ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็อาจจะอ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูทีวี หรืออาจจะนั่งเฉย ๆ อยู่ในห้องคนเดียวได้เป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ

          โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้เรียกลักษณะอาการที่คล้ายกับ ฮิคิโคโมริ ว่า "โรคแยกตัวจากสังคม" โดย แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นผู้ป่วยที่เข้าสังคมไม่ได้ จึงแยกตัวเองออกมา ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอาการช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเล่นกับเพื่อน ไม่อยากออกจากห้อง ส่วนกลุ่มที่สองไม่ป่วย แต่ตัดสินใจไม่อยู่ในสังคม โดยจะอยู่กับความสนใจเฉพาะตัว และจะมีอาการเป็นระยะเวลานาน

สาเหตุของ ฮิคิโคโมริ

          จิตแพทย์ ญี่ปุ่นมองว่า ฮิคิโคโมริ เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาที่ต้องเคี่ยวเข็ญเด็กอย่างหนัก ดังนั้นการสอบแข่งขันในแต่ละครั้งเด็ก ๆ จึงได้รับความกดดันสูงมาก แม้กระทั่งในวัฒนธรรมการทำงานที่คนญี่ปุ่น ล้วนต้องทำงานหนักตลอดชีวิตเช่นกัน จึงเหมือนว่าหากทำพลาดเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้รู้สึกหมดหวังในชีวิตได้ คนกลุ่มนี้จึงรู้สึกกลัว จะถอยออกมาอยู่คนเดียว

          นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีระดับต้น ๆ ของโลก และเคยผ่านความบอบช้ำมามากจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงสร้างเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมานานแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อนที่พฤติกรรม ฮิคิโคโมริ จะถูกกระตุ้นให้แสดงออกอย่างชัดเจน หลังจากเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีหลัง นั่นเพราะชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น มีทั้งโทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้เด็ก ฮิคิโคโมริ สามารถขังตัวเองอยู่ในห้องได้นานขึ้น

          โดย สาเหตุที่ทำให้คนกลุ่ม ฮิคิโคโมริ กลัวการเข้าสังคม อาจมาจากหลาย ๆ เหตุผล เช่น โดดเด่นเหนือกว่าคนอื่นจึงถูกล้อเลียน ทำให้ไม่กล้าไปโรงเรียน หรือบางคนพูดไม่เก่ง มีอารมณ์อ่อนไหวกับคำวิจารณ์มากจึงรับไม่ได้ คนกลุ่ม ฮิคิโคโมริ นี้จึงเลือกที่จะหนีปัญหา

          ทางจิตวิทยา ฮิคิโคโมริ มีลักษณะเด่นคือการ "หนี" (avoidance) คำ ว่าหนีไม่เหมือนเพิกเฉย (denial) หรือชอบอยู่คนเดียวอย่างสงบ (schizoid) แต่การหนีหมายถึงที่จริงอยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ด้วยปัจจัยบางอย่าง ทำให้คนกลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างจำกัดมาก ๆ เช่น อยู่กับเพื่อนได้ไม่นาน หรืออยู่ได้แต่กับเพื่อนบางคนที่เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจจะมองว่า คนที่เป็น ฮิคิโคโมริ อยากอยู่คนเดียวจึงถอยหนีออกมา สุดท้ายคิดว่าอยากทำอะไรก็ให้ทำไป จึงเหมือนว่าคนกลุ่ม ฮิคิโคโมริ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

          อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการ ฮิคิโคโมริ นี้คล้ายกับโรคหนึ่งที่มีชื่อว่า PDDs (Pervasive Developmental Disorders) โดย ฮิคิโคโมริ กับ PDDs มีลักษณะเหมือนกันคือผู้เป็นมักอยู่กับตัวเอง ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์หรือการเข้าสังคม แต่นักจิตวิทยาเชื่อว่า ปัจจัยหลักเรื่องวัฒนธรรมน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด ฮิคิโคโมริ มากกว่า เพราะหลายประเทศที่มีคนเป็น PDDs ก็ไม่ได้เป็น ฮิคิโคโมริ เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น

ฮิคิโคโมริ ในประเทศไทย

          สำหรับในประเทศไทยเอง ยังไม่มีรายงานว่าพบอาการ ฮิคิโคโมริ อย่างเป็นทางการ แต่สำหรับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้ระบุว่าเคยเจอลูกชายของคนรู้จักกันมีลักษณะอาการของ ฮิคิโคโมริ โดยแทบไม่ออกมาจากห้องเพื่อพบหน้าใคร จึงนำมาเขียนเป็นพล็อตภาพยนตร์เรื่อง  "Who are you : ใคร..ในห้อง"

          "ใหม่ ๆ แม่ยังได้เห็นหน้าลูกบ้าง หลัง ๆ ไม่ยอมให้เห็นเลย เวลาลงมาข้างล่างเขาก็เอาผ้าขนหนูปิดหน้า มีผ้าพันหัวตลอด... เขามีทีวี มีโทรศัพท์ เขาจะใช้โทรศัพท์ติดต่อกับเพื่อนของเขา เวลาอยากได้อะไรเขาจะจดใส่กระดาษ ซื้ออันนั้นอันนี้ให้หน่อย" ผู้กำกับคนดังเล่าถึงอาการของคนที่เป็น ฮิคิโคโมริ

          นอก จากนี้จากการเปิดเผยของ แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล พบว่า ประเทศไทยมีเด็กหรือกลุ่มคนที่มีอาการ ฮิคิโคโมริ อยู่บ้าง แต่ไม่สามารถให้คำจำกัดความได้ว่า เป็น ฮิคิโคโมริ หรือเปล่า

          "ถาม ว่าเป็นภาวะเดียวกันหรือเปล่า อาจจะใช่ แต่ญี่ปุ่นจะมีการสังเกตพฤติกรรมอาการ ซึ่งเรียกไม่เหมือนกัน ถ้าเข้าไปดูอาการวินิจฉัยทางจิตเวชของญี่ปุ่น เขาจะมีเยอะมาก อย่างพวกที่ทำงานหนักจนตาย Dead from over work ก็จะเรียกว่า โรคคาโรชิ (Karochi Syndrome) ทำงานหนักจนมีภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน ซึ่งพอมีปรากฏการณ์นี้ก็ใช้ศัพท์ที่เฉพาะ ไม่ได้ใช้ชื่อที่เป็นสากลที่จะสามารถอธิบายเชื่อมโยงได้"

การเยียวยา ฮิคิโคโมริ

          แพทย์มองว่า ฮิคิโคโมริ ไม่ใช่โรค ดังนั้นการบำบัดอาการ ฮิคิโคโมริ สามารถทำโดยการนำตัวคนที่เป็น ฮิคิโคโมริ มารวมกลุ่มกัน แล้วใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อไม่ให้คนกลุ่ม ฮิคิโคโมริ ถูกตัดขาดจากสังคมมากจนเกินไป แต่หากคนที่มองว่า ฮิคิโคโมริ เป็นโรค แพทย์ก็ต้องมุ่งวินิจฉัย หาสาเหตุว่าแท้จริงแล้วป่วยเป็นโรคทางจิตประเภทใด เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia), โรคซึมเศร้า (Major Depression), โรคกลัวที่โล่ง (Agoraphobia), โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลออทิสติก (Autistic) เมื่อวินิจฉัยแล้วก็จ่ายยา หรือทำจิตบำบัดเฉพาะโรคไปตามการวินิจฉัยนั้น

อาการอื่น ๆ ที่คล้ายกับ ฮิคิโคโมริ

          พฤติกรรมอื่น ๆ ที่มีลักษณะแยกตัวออกมาจากสังคม และดูคล้ายกับ ฮิคิโคโมริ เช่น

          NEETs (Not in Employment, Education or Training) หมายถึง คนที่อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง คนกลุ่มนี้จะไม่ชอบเข้าสังคม แต่ไม่ได้หนี เลือกที่จะถอยออกไปเท่านั้น แตกต่างจาก ฮิคิโคโมริ ที่จะหนี และกลัวผู้คน

          Otaku (โอตาคุ) เดิมใช้เรียกกับคนที่คลั่งไคล้อะไรมาก ๆ จนโงหัวไม่ขึ้น เช่น การ์ตูน เกม คอมพิวเตอร์ แฟชั่น ดารา ฯลฯ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่า โอตาคุ คือคำดูถูกเหยียดหยาม คนกลุ่มนี้จะสนใจเฉพาะด้านจนทำให้คนที่ไม่เข้าใจ ไม่สนใจด้วยไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ทำให้กลุ่มโอตาคุ ต้องถอยออกมาจากสังคม

          อย่าง ไรก็ตาม แม้ ฮิคิโคโมริ จะไม่ใช่โรค แต่ก็ควรต้องได้รับการเยียวยารักษาอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นอาจพัฒนาไปสู่โรคจิตเภทประเภทใดประเภทหนึ่งได้


http://health.kapook.com/view9621.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- suriyothai.ac.th