รู้จัก โรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม



เคล่า มาร์เทลล์ นางงามรัฐเดลาแวร์ ที่ป่วยเป็นโรค alopecia areata


โรคผิวหนังหลายชนิดไม่หายขาด... ถ้ายอมรับความจริงได้ ชีวิตจะสบายขึ้น (หมอชาวบ้าน)

           ตาม ที่มีข่าวว่า น.ส.เคล่า มาร์เทลล์ นางงามรัฐเดลาแวร์สหรัฐอเมริกาประจำปีนี้ ประกาศจะต่อสู้และรณรงค์ต่อโรคศีรษะล้าน ซึ่งเธอป่วยตั้งแต่เด็ก ด้วยการใช้สถานภาพดังกล่าว และการยอมรับตัวเองให้ผู้คนตระหนักต่อภัยของโรคดังกล่าว

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประวัตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม (alopecia areata) มักพบในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โรคนี้พบได้บ่อย ประมาณว่าตลอดทั้งช่วงชีวิต แต่ละคนมีโอกาสร้อยละ 2 ที่จะเป็นโรคนี้

           ปัจจุบันนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือยีน 8 ตำแหน่ง ตัวที่สำคัญที่สุดคือยีน ULBP3 ยีนกลุ่มนี้นอกจากทำให้ผมร่วงแล้วยังเกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ คือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นชนิดที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้

           ผม ร่วงแบบเป็นหย่อมนี้ ปกติมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร อาจแลดูคล้ายเหรียญบาท หนังศีรษะจะเรียบปกติ ไม่มีอาการบวมแดง หรือมีสะเก็ด และไม่มีแผลเป็น บางครั้งผมอาจร่วงหมดศีรษะเรียกว่า อะโลพีเซีย โททัลลิส (alopecia totalis) ยิ่งไปกว่านั้นขนบริเวณอื่นก็อาจร่วงด้วย เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนบริเวณอวัยวะเพศ ถ้าผมและขนร่วงหมดทั้งตัวเรียกว่า อะโลพีเซีย ยูนิเวอซัลลิส (alopecia universalis)

           พบว่าโรคนี้อาจเป็นซ้ำได้ และความเครียดบางครั้งก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของผมร่วงก็มีหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็รักษาให้หายขาดได้ เช่น ผมร่วงจากการติดเชื้อ

           นพ.ประวิตรให้ความเห็นว่า การรักษาผมร่วงแบบเป็นหย่อมอาจค่อยข้างยาก ในบางรายอาจเป็นซ้ำซาก ทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งอาจยิ่งทำให้ผมร่วงมากขึ้น โรคผมร่วงมีความสัมพันธ์กับจิตใจ โดยโรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม อยู่ในกลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังโดยตัวเองอยู่แล้ว

           แต่ ปัจจัยทางอารมณ์และความเครียดกระตุ้นให้โรคกำเริบ และยังอยู่ในกลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วย เพราะมีลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจโรคผิวหนังเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดหลายชนิด ไปจนถึงกลุ่มโรคจิตที่มีอาการทางผิวหนัง เช่น โรคจิตหลงผิดคิดว่ามีแมลงไชชอน เหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับจิตใจ ทั้งในแง่ความเครียดทำให้โรคกำเริบ และลักษณะของโรคที่ไม่น่าดู ก็ส่งเสริมให้เกิดความเครียดขึ้นไปอีก

           โรคผิวหนังที่เข้าข่ายว่าสัมพันธ์กับจิตใจ เช่น โรคผมร่วงแบบเป็นหย่อม โรคสะเก็ดเงิน โรคด่างขาว และแม้เรื่องความสวยความงาม เช่น ฝ้า ก็มีผลทางจิตใจมาเกี่ยวข้อง

           พบว่าผู้ป่วยโรคกลุ่มนี้บางรายเสียเวลา และทุ่มเทเงินทองในการรักษาโรคที่ไม่หายขาดมากเกินไป บางครั้งใช้ยาหลายขนานจนเกิดผลแทรกซ้อนจากยา ดังนั้น การยอมรับสภาพความเป็นจริงและใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องรักษาโรคให้หายขาดได้ จะสามารถทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขมากขึ้น


http://health.kapook.com/view16667.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก missdelaware.blogspot.com