ความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกร


ขากรรไกร

ความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกร (ไทยรัฐ)
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี

เวลาอ้าปาก หาว หรือเคี้ยว ท่านมีปัญหาเหล่านี้หรือไม่?

          รู้สึก ติดขัดเวลาอ้าปาก ไม่สามารถอ้าปากได้เต็มที่ ปวดบริเวณใบหน้า หรือข้อต่อขากรรไกร ขณะอ้าปากกว้าง หาวหรือขณะเคี้ยวอาหาร รู้สึกมีเสียง "คลิก" หรือ "เป๊าะ" ที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร ขณะอ้าปากหรือหุบปากเคี้ยวอาหารเคยมีขากรรไกรค้าง แต่เมื่อขยับคางซ้ายขวา ก็สามารถหุบลงได้เอง หรือมีอาการปวดขมับ กลุ่มอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ขมับและขากรรไกรมีปัญหาจนอาจก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตได้

          อาจารย์ ทพ.ดร.ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส สาขาทันตกรรมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดบนใบหน้าและขากรรไกร ศูนย์ทันตกรรมเดนทัลลิส โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงเรื่องของความผิดปกติบริเวณขมับและขากรรไกร หรือเรียกแบบย่อว่า ทีเอ็มดี (Temporomandibular Disorder : TMD) ว่าเป็นความผิดปกติที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดบริเวณใบ หน้าและช่องปาก ที่มาพบทันตแพทย์เพื่อบำบัดอาการปวด และอ้าปากได้จำกัด

          สำหรับ ข้อต่อขากรรไกร เป็นข้อต่อที่เชื่อมระหว่างขากรรไกรล่าง และกะโหลกศีรษะ อยู่ในตำแหน่งด้านข้างของใบหน้าที่บริเวณหน้าหู ทั้งสองข้าง ดังรูป ข้อต่อขากรรไกร ถือว่าเป็นข้อต่อที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุด และถูกใช้งานมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ โดยมีหน้าที่หลักคือใช้ช่วยในการอ้าปาก หุบปาก และเคี้ยวอาหาร โดยจะทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยว

ขากรรไกรผิดปกติ

กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย TMD คือ

          ปวด ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะทำให้ผู้ป่วยต้องการรักษาและมาพบทันตแพทย์ บริเวณที่มักมีอาการปวด ได้แก่ บริเวณหน้าหู กราม ขมับ อาการปวดมักเพิ่มขึ้นขณะขากรรไกรทำหน้าที่เช่น การเคี้ยว การหาว การพูด รวมถึงเมื่อทำการกดที่บริเวณนั้นๆ จะเกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น อาการปวดที่พบมักมีอาการแบบปวด ตื้อ ๆ ตุบ ๆ แต่อาจมีอาการปวดแปลบ ๆ ได้ในบางครั้ง อาการปวดอาจร้าวไปที่คอ ไหล่ และหลังได้

          มีเสียงเกิดขึ้นที่ข้อต่อขากรรไกร ในขณะอ้าปาก หุบปาก ลักษณะเสียงที่ขากรรไกรที่พบได้บ่อย คือเสียงคลิก และเสียงกรอบแกรบ

          อ้าปากได้จำกัด คือความสามารถในการเคลื่อนที่ของขากรรไกรได้จำกัดหรือน้อยลง บางรายอาจมีอาการขากรรไกรค้าง หรือมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวร่วมด้วย

TMD มักพบในคนกลุ่มไหน

          พบมากในกลุ่มผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรือในกลุ่มผู้ที่ชอบกัดเน้นฟัน และพบว่ามักจะสัมพันธ์กับความเครียด เช่น ช่วงสอบ ย้ายที่อยู่ใหม่ หรือเริ่มงานใหม่ เป็นต้น


ขากรรไกรผิดปกติ

TMD เกิดจากอะไร

          ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในรายที่มีอาการอย่างเฉียบพลันมักพบว่า มีประวัติ การบาดเจ็บที่ข้อต่อขากรรไกร และกล้ามเนื้อ บดเคี้ยว

          ความ เครียดไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิด TMD แต่สามารถกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น เสียงคลิกที่ข้อต่อขากรรไกรแสดงให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของหมอนรองกระดูกข้อต่อขากรรไกร แต่ไม่ได้แสดงถึงความเสียหายต่อกระดูกขากรรไกร ยกเว้นในกลุ่มผู้ป่วยข้ออักเสบซึ่งอาจพบว่ามีการทำลาย หรือพบความเสียหายที่ข้อต่อกระดูกขากรรไกร

จะรักษา TMD ได้อย่างไร

          TMD เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย สามารถเกิดขึ้นมาได้เองและมักเป็นชั่วคราว และอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ ในช่วงที่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดมาก หรืออ้าปากไม่ขึ้น ซึ่งมักจะกินเวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้

          ทานอาหารอ่อน และพยายามเคี้ยวอาหารให้เท่ากันทั้งสองข้าง

          หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ต้องเคี้ยวเป็นระยะเวลานาน หรืออ้าปากกว้าง ๆ เช่น หาว เคี้ยวหมากฝรั่ง ชอบกัดของแข็ง หรือกัดเน้นฟันเล่น

          ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่ปวด โดยประคบครั้งละ 10-20 นาที 3-5 ครั้ง ต่อวัน

          พยายามยกลิ้นมาแตะเบา ๆ ที่เพดานแข็งด้านบนของช่องปาก เพื่อให้ฟันไม่แตะสัมผัสกันเพื่อหวังผลให้ กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร ผ่อนคลายและอยู่ในระยะพักตลอดเวลา

          ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดในรายที่มีอาการเฉียบพลันและรุนแรงได้

          เฝือกสบฟัน ทั้งชนิด อ่อน หรือ แข็ง สามารถช่วยป้องกันฟันจากการกัดเน้นฟัน หรือ นอนกัดฟันได้

          นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่ม จำพวก ชา กาแฟ และ แอลกอฮอล์ และใช้เทคนิคในการผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียด


ขากรรไกรผิดปกติ

          เมื่อช่วงที่มีอาการรุนแรงได้สงบลงแล้ว ผู้ป่วยควรเริ่มกลับไปเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งตามปกติ เพื่อให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยว และข้อต่อขากรรไกรปรับตัวกลับไปทำหน้าที่ได้ดังเดิม และควรใช้เทคนิคที่ช่วยในการผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียดอย่างสม่ำเสมอ และควรหลีกเลียงพฤติกรรมที่เคยทำให้เกิดอาการปวด

          อย่าง ไรก็ตาม ถ้าอาการปวด และอ้าปากได้จำกัด ไม่ดีขึ้นหลังจากที่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดอาการปวดเรื้อรังที่ใบหน้าและช่อง ปาก ซึ่งอาจช่วยใส่เครื่องมือชนิดอื่น หรืออาจมีการจ่ายยาในกลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาลดอาการซึมเศร้า หรือยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งพบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดได้ หรือต้องมีการตรวจข้อต่อขากรรไกร หรือการทำงานของระบบประสาทบริเวณใบหน้าอย่างละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจผู้ป่วยไม่ได้มีอาการปวดจากความผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

http://health.kapook.com/view6769.html