สธ.ฟิตเร่งคุมเข้มกิจการ “ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน”

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 กรกฎาคม 2554 11:29 น.
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       สธ.ฟิตคุมมาตรฐาน กิจการ “ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน” ชี้ เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ระบุ ต้องมีแพทย์ พยาบาล ส่วนพนักงานดูแลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุจากสถาบันรัฐหรือ เอกชน 420 ชม.
      
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้เตรียมการรับมือการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 7.02 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่เมื่อ 17 ปี ก่อนหรือในปี 2537 ไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งหมด เรื่องหลักที่จะต้องเตรียมการรับมือคือเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีปัญหาสุขภาพสูงกว่าวัยอื่นๆ ผลสำรวจครั้งนี้พบว่ามีผู้สูงอายุร้อยละ 47 หรือประมาณ 3 ล้าน 3 แสนคน ประเมินตนเองว่ามีสุขภาพดี อีกร้อยละ 24 หรือประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพไม่ดี ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มที่สุขภาพไม่ดีนั้น จะต้องได้รับการดูแลพิเศษ
      
       “ในส่วนของผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือช่วยได้ น้อย บางครอบครัวที่มีฐานะ อาจจ้างพยาบาลหรือพนักงานไปดูแลแทนที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สธ.ได้ออก ประกาศกระทรวงฯ ประกาศให้กิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ และออกแนวทางเพื่อใช้เป็นข้อกำหนดมาตรฐานของท้องถิ่น ในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวด้วย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
      
       ด้าน นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า กรมอนามัยได้จัดหลักสูตรอบรมพนักงานดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี 115 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 305 ชั่วโมง เนื้อหาหลักสูตรจะเน้นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ การช่วยเหลือผู้สูงอายุเบื้องต้นในภาวะวิกฤต การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบขับถ่าย การใช้ยา การส่งเสริมสุขภาพเช่นการออกกำลังกาย ด้านอาหารและโภชนาการ สุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพจิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย โทร.0-2590-4504,0-2590-4508
      
       อนึ่งสาระสำคัญข้อกำหนด มาตรฐานมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือผู้ดำเนินการกิจการ ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรการพยาบาลและการผดุง ครรภ์ หรือมีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ซึ่งจัดโดยกรมอนามัยหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องหรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับ อนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ และจะต้องควบคุมกำกับ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างน้อยทุก 3 เดือน จัดอบรมฟื้นฟูความรู้พนักงานในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านอย่างน้อยทุก 2 ปี ประการสำคัญจะต้องจัดระบบการส่งต่อผู้สูงอายุ กรณีที่ผู้สูงอายุ เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย
      
       ส่วนที่ 2 มาตรฐานของพนักงานดูแลผู้สูงอายุ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเทียบเท่า มีความรู้และประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุ โดยต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรด้านการพยาบาล ผดุงครรภ์ หรือประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลตามหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง และผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 420 ชั่วโมง โดยในการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องดูแลตามกิจวัตรประจำวันของผู้สูอายุ เช่นการรับประทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย สังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงต่างๆของผู้สูงอายุ รวมทั้งต้องส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทุกด้าน เช่น ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนให้ผู้สูงอายุ เช่น โรคปอดบวม เป็นต้น

credit link  http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000084518