เครือข่าย ปชช.บุกแพทยสภายกเลิกค้าน “หนังสือแสดงสิทธิการตาย”

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2554 17:31 น.
 เครือ ข่ายภาคประชาชน บุกแพทยสภา ขอให้ยุติการคัดค้าน “หนังสือแสดงสิทธิการตาย” วอนอย่าเห็นแก่ประโยชน์แอบแฝงของแพทย์ เลขาแพทยสภา ยันเห็นด้วยในเจตนารมณ์ ค้านคำจำกัดความ “วาระสุดท้ายของชีวิต” ไม่ชัดเจน ขอเวลาทบทวน 14 ก.ค.
      
       วันนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิด้านสุขภาพ 4 ภาค รวมตัวกันราว 20 คน ได้เดินทางมายังแพทยสภา เพื่อขอเข้าพบ ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายก แพทยสภา พร้อมยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอให้แพทยสภา สนับสนุนการใช้หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า หนังสือแสดงสิทธิการตาย โดยมีนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เป็นผู้รับหนังสือ แทน
ตัวแทนภาคประชาชนอ่านแถลงการณ์
       โดยแถลงการณ์ ระบุว่า เครือข่าย ประชาชนเพื่อสิทธิสุขภาพ 4 ภาค ขอยืนยันตามเจตนารมณ์ในสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อีกทั้งขอเรียกร้องให้กลุ่มแพทย์ที่กำลังเคลื่อนไหวขัดขวางสิทธิของประชาชน ได้หยุดคิดว่า กำลังทำอะไรอยู่ หรือคิดและทำไปโดยมีเรื่องผลประโยชน์จากธุรกิจการแพทย์แอบแฝงที่อาจได้รับ จากการยืดการตายของผู้ป่วย ดังนั้น แพทย์กลุ่มดังกล่าวควรหยุดเคลื่อนไหว และหันกลับมาร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับการใช้สิทธิ ของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามวิชาชีพของแพทย์
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา
       ด้านนพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า เห็น ด้วยที่ประชาชนจะมีสิทธิในการปฏิเสธการรักษา แต่ปัญหาคือ เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องคำจำกัดความของ “วาระสุดท้ายของชีวิต” “ความทรมาน” จะต้องวินิจฉัยกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกันเรื่องเอกสาร จะพิสูจน์ว่าจริงเท็จอย่างไร ซึ่งแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่ส่วนนี้ ทางที่ดีที่สุดต้องมีหน่วยงานดูแล หรือรับรองเอกสารเพื่อความสบายใจของแพทย์ โดย สช.อาจทำหน้าที่ดังกล่าว แต่สุดท้ายแพทย์ต้องหารือกับญาติให้แน่ชัด ซึ่งหากไม่ได้ข้อยุติสุดท้ายอาจต้องพึ่งศาลตัดสินว่า ตกลงผู้ป่วยเข้าข่ายวาระสุดท้ายหรือไม่
      
       เลขาธิการแพทยสภา กล่าวด้วยว่า การประชุมบอร์ดแพทยสภาในวันที่ 14 ก.ค.นี้ จะหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาเรื่องความเป็นไปได้ในการฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากความเห็นส่วนหนึ่งมองว่ากฎกระทรวงออกเกินอำนาจของพ.ร.บ.สุขภาพแห่ง ชาติฯ หรือไม่ ที่สำคัญหากไม่ชัดเจนเรื่องนี้จะเข้าข่ายกำหนดให้แพทย์ไม่ทำการรักษา หรือถอดเครื่องหายใจ ซึ่งไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ต้องชัดเจน ซึ่งประเด็นการฟ้องร้องนั้น หากมีการฟ้องร้องจริงคงไม่ใช่แพทยสภาเป็นผู้ดำเนินการ แต่อาจเป็นแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน หรือในนามสมาพันธ์ต่างๆ ก็เป็นได้ เรื่องนี้ต้องรอมติจากบอร์ดแพทยสภาก่อน ขณะนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนใดๆ
      
       “ทั้งนี้ หากมีการฟ้องศาลปกครองจริงจะมี 2 แนวทาง คือ ชะลอ หรือทุเลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก่อนจะพิจารณาอย่างละเอียด ว่า จะตัดสินยกเลิกกฎกระทรวง หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
credit http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000085755