มะเร็งเต้านม Breast cancer


เต้านม
มะเร็งเต้านม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          มะเร็งเต้านม หรือ Breast cancer เป็นหนึ่งใน โรคมะเร็ง ที่พบเป็นอันดับ 2 รองจาก มะเร็งปากมดลูก ในหญิงไทย วันนี้เราไปรู้จักโรค มะเร็งเต้านม กัน

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด มะเร็งเต้านม

          เดิมเชื่อกันว่า สาเหตุหลักของการเกิด มะเร็งเต้านม มาจากพันธุกรรม แต่ปัจจุบันพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็น มะเร็งเต้านม จากพันธุกรรม มีเพียง 4-6% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิด มะเร็งเต้านม ก็คล้ายกับสาเหตุที่ทำให้มะเร็งชนิดอื่น ๆ คือ เกิดจากการทำปฏิกิริยา Oxidation ของเซลล์ต่าง ๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมขึ้นที่ DNA ของเซลล์ ทำให้เซลล์ในอวัยวะนั้น ๆ มีการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง รวมทั้งฮอร์โมนเพศหญิง

ใครเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านม

          ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

          ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็น มะเร็งเต้านม มีโอกาสเสี่ยงเป็น มะเร็งเต้านม มากกว่าสองเท่า รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยเป็น มะเร็งเต้านม ก็มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติ

          ผู้หญิงที่มีเต้านมใหญ่ หรือมีเต้านมที่เต่งตึงกว่าอายุ มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่มีเต้านมเล็ก

          ผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป

          ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนาน 10 ปีขึ้นไป หรือใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อย ๆ

          ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน สูงกว่าปกติ

          ผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อน 9 ขวบ) หรือประจำเดือนหมดช้า หลังอายุ 55 ปี

          ผู้ที่อยู่ในมลภาวะที่เป็นพิษ เนื่องจากนาน ๆ เข้าอาจเกิดการสะสมของความผิดปกติของเซลล์ได้

          ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่าวันละ 2 ซอง

          ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ในสตรีวัยหมดประจำเดือน

          ผู้ที่มีความเครียดสูง

          ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่พบในผู้ชายในอัตราที่น้อยมาก

อาการของ มะเร็งเต้านม

          ผู้ที่เป็น มะเร็งเต้านม ในระยะแรก จะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ จนเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเกิดอาการ คือ

          คลำพบก้อนที่เต้านม หรือใต้รักแร้ โดยร้อยละ 15-20 ของก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านม คือ มะเร็งเต้านม
         
          ขนาดเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงขนาด และรูปร่าง

          มีน้ำ หรือเลือดไหลออกมาจากหัวนม โดยร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกที่เต้านมจะเป็น มะเร็งเต้านม

          รู้สึกเจ็บ และหัวนมถูกดึงรั้งเข้าไปในเต้านม

          ผิวที่เต้านมจะมีลักษณะเหมือนเปลือกส้ม อาจมีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ แดงผิดปกติ บางส่วนอาจมีสะเก็ด

          รักแร้บวม เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

          หากใครพบอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ระยะของ มะเร็งเต้านม

          มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ

          ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม
         
          ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

          ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร อาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

          ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

          ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ แล้ว

การวินิจฉัยโรค มะเร็งเต้านม

          วิธีการวินิจฉัย มะเร็งเต้านม ทำโดยการเอ็กซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม และใช้วิธีการตรวจอัลตราซาวน์ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งได้ผลดีที่สุด โดยเฉพาะกับก้อนที่มีขนาดเล็ก หรืออยู่ลึก จนคลำไม่ได้ และเมื่อตรวจพบก้อน มะเร็งเต้านม แล้ว แพทย์จะประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง ว่าจะลุกลามไปยังที่อื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูก หรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยต้องถ่ายภาพรังสีทรวงอก อัลตราซาวน์ตับ และตรวจกระดูกชนิดสแกน ด้วยเภสัชรังสี

หากก้อนที่พบบริเวณเต้านม ไม่ใช่เนื้อร้าย?

          บางครั้งก้อนที่เต้านม อาจไม่ใช่เนื้อร้าย หรือ มะเร็งเต้านม เพราะก้อนนั้น อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ คือ

          1.Fibrocystic change เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยก้อนที่บริเวณเต้านมนี้ ไม่ใช่เป็นมะเร็ง แต่เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมน ทำให้มีถุงน้ำ มักจะมีอาการปวดบริเวณก้อนก่อนมีประจำเดือน อาการมักเกิดช่วงอายุ 30-50 ปี ก้อนนี้มีหลายขนาด ขยับไปมาได้ มักจะเป็นสองข้างของเต้านม พบที่บริเวณรักแร้ เมื่อเข้าสู่วัยทองก้อนนี้จะหายไปเอง ไม่ต้องรักษา

          2.Fibroadenomas มักจะเกิดในช่วงอายุ 20-40 ปี ไม่รู้สึกปวด ก้อนเคลื่อนไปมา ต้องรักษา ด้วยการผ่าออก

          3.Traumatic fat necrosis เกิดจากการที่เต้านมได้รับการกระแทกและมีเลือดออกในเต้านม มักเกิดในคนที่มีเต้านมโต บางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัว รวมทั้งไขมันเกิดการอักเสบรวมกันเป็นก้อนซึ่งอาจจะปวดหรือไม่ก็ได้

การรักษา มะเร็งเต้านม

          การรักษา มะเร็งเต้านม ทำได้ทั้ง การผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด รวมทั้งการให้ฮอร์โมนรักษา แต่โดยปกติแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามลำดับความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาดีที่สุด โดยคำนึงถึง วัย ภาวะประจำเดือน สุขภาพทั่วไป ขนาดของเซลล์มะเร็ง ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง รวมทั้งระยะของมะเร็งเต้านม ที่เป็นอยู่

          การรักษา มะเร็งเต้านม ด้วยวิธีการผ่าตัด ในทางปฏิบัติมี 2 วิธี คือ

          1.การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน คือ ตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีที่หุ้มรอบมะเร็งออกด้วย และถ้าหากมีมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จะต้องเลาะต่อม  น้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกด้วย การผ่าตัดโดยวิธีนี้ต้องฉายรังสีบริเวณเต้านมภายหลังการผ่าตัดทุกราย เพื่อ ลดโอกาสกลับเป็นใหม่ของมะเร็ง ผลการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีพอ ๆ กับ การตัดเต้านมออกทั้งเต้า

          2.การผ่าตัดเต้านมออกโดยวิธีมาตรฐาน คือ การตัดเนื้อเต้านมทั้งหมดร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แพทย์จะผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก

          ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด บางกรณีจำเป็นต้องได้รับการรักษาเสริมเพื่อหวังผลให้ หาย หรือมีชีวิตยืนยาวขึ้น ด้วยการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ฮอร์โมนรักษา ซึ่งการรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี อันจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

          ผลข้างเคียงของการรักษา ด้วยการผ่าตัด นอกจากจะมีอาการเจ็บปวดแล้ว อาจมีการติดเชื้อ หรือแผลหายช้า จะรู้สึกตึง ๆ หน้าอก บริเวณแขนข้างที่ผ่าตัดจะมีแรงน้อยลง และมีอาการชา บวม อีกทั้งการตัดเต้านมไปข้างหนึ่งอาจทำให้เสียสมดุลทำให้ปวดหลัง คอ

          การรักษา มะเร็งเต้านม ด้วยรังสี (Radiation therapy)

          เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปให้ 5 วันต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 5-6 สัปดาห์ บางครั้งอาจให้รังสีรักษา เคมีบำบัด หรือให้ฮอร์โมนก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ง่ายต่อการผ่าตัด

          ผลข้างเคียง คือ มีอาการอ่อนเพลีย ผิวหนังแห้ง แดง เจ็บ คัน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เครื่องสำอาง

          การรักษา มะเร็งเต้านม ด้วยวิธีเคมีบำบัด (Chemotherapy)

          วิธีเคมีบำบัด จะใช้ยาฉีด หรือยากิน มาฆ่ามะเร็ง มักจะให้ระยะหนึ่งแล้วหยุด โดยจุดประสงค์ของการให้ เพื่อป้องกันมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด รวมทั้งลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัด และควบคุมโรคในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น

          ผลข้างเคียง คือ ผู้ป่วยอาจผมร่วง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำทำให้เหนื่อยง่าย ติดเชื้อง่าย และเลือดออกง่าย อีกทั้งอาจเป็นหมันได้

          การรักษา มะเร็งเต้านม ด้วยฮอร์โมน (Hormone therapy)

          เป็นให้ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จะใช้ในรายที่ให้ผลบวกต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ progesterone receptor ผลข้างเคียงของการรักษาวิธีนี้ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการ วูบวาบ ตั้งครรภ์ง่าย คันช่องคลอด น้ำหนักเพิ่ม ตกขาว ดังนั้นจึงควรตรวจภายในทุกปีและรายงานแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ


มะเร็งเต้านม ตรวจเต้านม
ตรวจ มะเร็งเต้านม

การตรวจเต้านม เพื่อตรวจสอบ มะเร็งเต้านม ด้วยตัวเอง

          ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อหา มะเร็งเต้านม โดยควรทำทุกเดือน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ ทั้งนี้เวลาที่ดีที่สุดในการตรวจหา มะเร็งเต้านม คือ หลังหมดประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน เนื่องจากช่วงนั้นเต้านมจะไม่คัดตึง จึงตรวจพบได้ง่าย โดย วิธีการตรวจ มะเร็งเต้านม ต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวา สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนัง รอยบุ๋ม รอยนูน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของเต้านม โดยมีท่าคือ

1.ยืนหน้ากระจก

          ให้ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว ยืนตามสบาย

          ยกแขนทั้ง 2 ข้าง ประสานกันเหนือศีรษะ เพื่อเปรียบเทียบขนาดของเต้านมทั้งสองข้าง ว่ามีการบิดเบี้ยวหรือไม่ ผิวเรียบ มีรอยบุ๋มหรือไม่

          ยืนเท้าเอว เกร็งอก ให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น

          โค้งตัวมาข้างหน้า ใช้มือบีบหัวนมว่า มีสิ่งผิดปกติไหลออกมาหรือไม่

2.นอนราบ

          นอนให้สบาย ตรวจเต้านมด้านขวา โดยสอดหมอนหรือม้วนผ้าไว้ใต้ไหล่ขวา เพื่อตรวจเต้านม

          ยกแขนขวาเหนือศีรษะ เพื่อให้เต้านมด้านแบราบ จะทำให้คลำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเต้านมส่วนบนด้านนอก ที่มีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด

          ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงไม่ใช่ การคลำให้คลำจากรอบหัวนม และขยายวงจนทั่วเต้านม ถ้าเจอก้อนถือว่าผิดปกติ

          ทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย

3.ขณะอาบน้ำ

          ผู้หญิงที่มีเต้านมเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน

          สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำเต้านมด้านบน

การป้องกันโรค มะเร็งเต้านม

          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกัน มะเร็งเต้านม อย่างแน่นอน แต่มีหลายปัจจัยที่จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิด มะเร็งเต้านม ได้ คือ

          การตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยตัวเอง สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เป็นประจำทุกปี  ทั้งนี้ การตรวจแมมโมแกรม เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะค้นพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก จึงควรตรวจทุก1-2 ปี สำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่านี้ หรือมีปัจจัยเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ว่าจะตรวจบ่อยแค่ไหน

          หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงเป็น มะเร็งเต้านม ลงได้ถึง 60%

          พยายามรับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าสม่ำเสมอ เพราะจากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ สม่ำเสมอ มีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมน้อยลงถึง 40%

          งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

          ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนมากเกินไป

          ลดการรับประทานเนื้อแดง อาหารมัน เกลือ

          รับประทานผัก ผลไม้ เป็นประจำ


 

http://health.kapook.com/view4332.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
      
- siamhealth.net
- medinfo2.psu.ac.th