เรื่องของ โรคหัวใจ


โรคหัวใจ

เรื่องของหัวใจ  (Lisa)

         "โรคหัวใจ คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย มีอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณ 4 คนต่อชั่วโมง"

ปัจจัยเสี่ยง...ต่อการเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่

         คอเลสเตอรอลในเลือดสูง

         ความดันโลหิตสูง

         โรคเบาหวาน

         ความอ้วน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

         ความเครียด

         การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

         สูบบุหรี่ หรือเพิ่งเลิกสูบบุหรี่ได้ไม่เกิน 2 ปี หรือได้รับควันบุหรี่สม่ำเสมอ (แม้ไม่ได้สูบบุหรี่)

         เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือวัยทองหลังหมดประจำเดือน

         ชาย และหญิงในวัยกลางคนขึ้นไป ถ้ามีความดันโลหิตสูง ภาวะความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด หรือโรคเบาหวานควรได้รับการรักษาต่อเนื่อง อย่ารอจนเกิดอาการก่อนจึงรักษา เพราะเมื่อถึงเวลานั้นการรักษาก็ยากขึ้น และโรคแทรกซ้อนก็จะตามมามากมาย สำหรับผู้ที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง และสืบค้นโรคหัวใจต่อไป

 วิถีทางเพื่อห่างไกลโรคหัวใจ

         1. งดสูบบุหรี่

         2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

         3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

         4. หลีกเลี่ยงอาหารแคลอรี่สูง ไขมันจากสัตว์ที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารทอด

         5. ลดความเครียด

         6. หมั่นตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

โรคหัวใจ...กับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

         โรคหัวใจเป็นคำรวม ถ้าแยกรายละเอียดจะแบ่งโรคหัวใจออกได้อีกหลายชนิด เช่น โรคหัวใจจากหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ อาจตีบหรือรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เป็นต้น โรคหัวใจทั้งหมดนี้หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ในที่สุดก็จะมีอาการโรคหัวใจที่เหมือนกัน คือ เกิดอาการเหนื่อยง่าย มีอาการหอบเมื่อออกแรง ทั้งหมดเกิดจากการที่หัวใจทำงานผิดปกติที่เรียกว่าหัวใจล้มเหลว หรือภาวะหัวใจวาย

          ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ยาเพื่อรักษาอาการดังกล่าว เมื่ออาการหายไป ผู้ป่วยสบายขึ้นแล้วควรเริ่มฟื้นฟูสมรรถภาพของหัวใจ เพื่อบำบัดอาการ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของระบบหัวใจ เพราะถ้าปล่อยให้เนิ่นนานเกินไปจะทำให้ร่างกายส่วนอื่น ๆ เสื่อมสภาพตามกันจากการหยุดพักนานเกินไป การเริ่มฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจในเวลาที่เหมาะสม จะเป็นการทำให้หัวใจกลับมาทำงานได้ปกติเร็วขึ้น แล้วยังเป็นการป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย




             

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://health.kapook.com/view4843.html