เมืองหนังสือโลก

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com


ถึง น้าชาติ

ไทยได้เป็นเจ้าภาพเมืองหนังสือโลกปี 2556 สงสัยว่าเป็นเจ้าภาพได้อย่างไรทั้งที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย

จาก หนอนหนังสือ

ตอบ หนอนหนังสือ

องค์การ ศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เพิ่งประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็น "เมืองหนังสือโลก" ครั้งที่ 13 ประจำปี 2556 ในการประชุมที่สำนักงานใหญ่ ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพฯ ชนะเมืองใหญ่ที่ส่งชื่อเข้าชิงชัยอีก 2 เมือง ได้แก่ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

เมืองหนังสือโลก เริ่มเมื่อปี 2544 โดยยูเนสโกมอบรางวัลแห่งเกียรติยศ "เมืองหนังสือโลก" หรือ "World Book Capital" แก่เมืองที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการเพียงปีละหนึ่งเมือง ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน และเพื่อให้สอดคล้องกับการเฉลิมฉลองให้วันที่ 23 เม.ย.ของทุกปีเป็น "วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก" (World Book and Copyright Day) เนื่องจากเห็นว่าหนังสือ คือสิ่งที่มีพลังอำนาจสูงสุดและมีประสิทธิ ภาพมากที่สุดในการกระจายความรู้และรักษาไว้ซึ่งความรู้นั้นๆ เพื่อมนุษยชาติ

เมืองที่จะได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศจนถึงระดับนานาชาติ

2. จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานวิชาชีพทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ อาทิ สมาคมนักเขียน สมาคมผู้จัดพิมพ์ สมาคมห้องสมุด สมาคมร้านขายหนังสือ เป็นต้น

3. มีโครงการสนับสนุนการพัฒนาหนังสือและการอ่าน

4. ส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกทางความคิด ผู้คนในสังคมจัดพิมพ์และแจกจ่ายข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระ

5. เสนอโครงการและกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองหนังสือโลกในปีที่จะประกวด

ไทย เคยเสนอชื่อเข้าไปคัดเลือกเพื่อให้เป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2551 โดยทำเรื่องเสนอปี 2549 ครั้งหนึ่งแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ และยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระทรวงวัฒนธรรมมีแนวคิดว่าต้องการให้ประเทศไทยเป็น "นครแห่งการอ่าน" (City of Reading หรือ City of Book) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับยูเนสโก ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพในที่สุด

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการอ่านของคนไทยถือว่าอ่านหนังสือน้อยมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อปี 2549 พบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 1.59 ชั่วโมง เปรียบเทียบแล้วคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 5 เล่มต่อปี และสถิติล่าสุด นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียง 39 นาทีต่อวันซึ่งถือว่าต่ำมาก

สำหรับเมืองที่เคยเป็นเจ้าภาพเมือง หนังสือโลก ได้แก่ 2544 กรุงมาดริด ประเทศสเปน, 2545 เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์, 2546 กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย, 2547 เมืองอันต�เวิร์ป ประเทศเบลเยียม, 2548 เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา, 2549 เมืองตูริน ประเทศอิตาลี, 2550 กรุงโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย, 2551 กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์, 2552 กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน, 2553 กรุงลุบลิยานา ประเทศสโลวีเนีย, 2554 กรุงบูเอโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และ 2555 กรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย