พวงมโหตร

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com


ถึง น้าชาติ

ผมเห็นพวงกระดาษสีต่างๆ ห้อยแขวนตามงานบุญที่วัด ลุงบอกว่า ชื่อ พวงมโหตร แปลว่าอะไรและเป็นมาอย่างไรครับ

จาก ต้อม

ตอบ ต้อม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 อธิบายว่า พวงมโหตร (อ่านว่า พวง-มะ-โหด) เป็นพวงอุบะ ซึ่งห้อยประดับอยู่ที่คันดาลฉัตร ทำด้วยผ้าตาดทอง ส่วนคันดาลฉัตร คือคันฉัตรที่มีรูปเป็นมุมฉาก 2 ทบอย่างลูกดาล เพื่อปักให้ฉัตรอยู่ตรงเศียรพระ พุทธรูป

ชาวอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย มีประเพณีการสร้างพวงมโหตรกันมากว่า 50 ปี พวงมโหตรของที่นี่มีลักษณะเป็นดอกไม้ที่ปักกันเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นจะห่างกันประมาณ 50-70 เซนติเมตรจำนวน 7-9 ชั้น มีอุบะดอกไม้แห้งหรืออุบะนก ปลา ฯลฯ หรือกระดาษสายรุ้งสีต่างๆ ห้อยไว้ที่ปลายก้านของดอกไม้แต่ละดอกเพื่อให้ชั้นของดอกไม้ต่อเนื่องกันลงมา เป็นพวง และที่โคนของก้านดอกไม้แต่ละดอกจะผูกของกินของใช้ เช่น ขนมแห้ง ปากกา สมุด ดินสอ

ชาวบ้านจะเริ่มสร้างพวงมโหตรในวันขึ้น 14 ค่ำ ก่อนออกพรรษา 2 วัน และจะถวายพวงมโหตรในวันออกพรรษา ซึ่งเชื่อกันว่าการสร้างพวงมโหตรนี้ได้บุญกุศลมหาศาล เพราะนอกจากจะได้ร่วมฉลองเทศน์มหาชาติถึง 13 กัณฑ์แล้ว ชาวบ้านยังช่วยกันหาข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นถวายให้แก่วัด เป็นการสร้างความสามัคคีแก่คนในหมู่บ้านเดียวกันและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก ด้วย

ส่วนชาวเพชร บุรีมีการสร้างพวงมโหตรอีกแบบหนึ่งซึ่งเห็นกันคุ้นตาตามงานบุญที่วัด

อ.จำลอง บัวสุวรรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มลูกหว้า โรง เรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชร บุรี อธิบายว่า พวงมโหตรมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าแพร่หลายอยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มานาน

ในประเทศไทยมีชื่อเรียกหลายอย่างตามแต่ละพื้นที่ เช่น แพร่ น่าน เชียงใหม่ เรียกตุงไส้หมู นครสวรรค์ ระยอง เรียกพวงเต่ารั้ง เลย อุดร เรียกพวงมาลัย แต่ที่เพชรบุรี เรียกกันว่าพวงมโหตร

พวงมโหตรมักจะติดอยู่ตาม "ธงราว" ซึ่งเป็นธงทำจากกระดาษว่าว ตอกลายเป็นรูปนักษัตร ใช้ตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริงหรืองานบุญ เพราะชาวเพชรมีความเชื่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า สัตว์ 12 ชนิดที่เป็นสัญลักษณ์ปีนักษัตรนี้ ในอดีตเคยไปเฝ้าพระ พุทธเจ้าตอนปรินิพพาน สัตว์เหล่านี้จึงขอร้องว่าหากมีการเทศนาที่ไหนขอให้บอกด้วย อาจเป็นข้อคิดแก่ผู้คนว่าแม้สิงสาราสัตว์ยังรู้จักฟังเทศน์ฟังธรรม

การทำพวงมโหตรใช้กระดาษว่าวเช่นกัน ถ้าจะให้สวยต้องใช้กระดาษหลายๆ สี พับกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วพับครึ่งสามเหลี่ยมนั้นต่ออีก 2 ครั้ง หมุนยอดสามเหลี่ยมเอาด้านสัน (ด้านที่เปิดไม่ได้) ไปไว้ทางขวามือ พับสันทับเข้าไปจนดูคล้ายสามเหลี่ยม 2 รูปซ้อนทับกันอยู่

จากนั้น ใช้กรรไกรตัดกระดาษสามเหลี่ยมแบบสลับฟันปลา โดยตัดจากยอดบนลงล่างจนเกือบถึงชายด้านล่างให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน คลี่กระดาษออกและใช้กรรไกรเจาะรูตรงกลางกระดาษทั้ง 3 แผ่นเพื่อสอดกระดาษแข็งรูปวงกลมซึ่งร้อยด้ายผูกกับไม้ไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับทำเป็นไม้แขวน ใช้มือจับแต่งกระดาษที่ซ้อนกันอยู่นั้นให้เป็นทรงจอมแห