ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com


อยากทราบความเป็นมาของท้องฟ้าจำลองที่เอกมัย

ฟิจิ

ตอบ ฟิจิ


ท้อง ฟ้าจำลองกรุงเทพ หรือ Bangkok Planetarium ตั้งอยู่ที่ 928 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 เริ่มก่อ สร้างเมื่อปีพ.ศ.2505 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด "อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติ" (ท้องฟ้าจำลอง) เมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2507 จากบัดนั้น ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพจึงเปิดการแสดงให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2507 เป็นต้นมา

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเป็นสถาบันการศึกษาแห่ง หนึ่ง สังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อสร้างแหล่งที่ดีให้เยาวชนได้ชุมนุมหาความรู้ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ส่งเสริม การศึกษาวิชาดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โดยให้นักเรียนเรียนรู้จากของจำลองซึ่งคล้ายของจริง งบประมาณการก่อสร้างและดำเนินงานขั้นต้นจนสามารถเปิดแสดงได้ในปีพ.ศ.2507 เป็นเงินงบประมาณ 12 ล้านบาท



อาคาร ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ห้องฉายดาว และส่วนแสดงนิทรรศการรอบห้องฉายดาว โดยห้องฉายดาวเป็นห้องวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20.60 เมตร หลังคาเป็นรูปโดม สูง 13 เมตร เพดานโดมเป็นแผ่นอะลูมิเนียมพรุน ทาสีขาวเพื่อรับแสง ที่ฉายออกจากเครื่องฉายดาวปรากฏเป็นดวงดาวในท้องฟ้าจำลอง คล้ายกับดวงดาวในท้องฟ้าจริง ความจุ 370 ที่นั่ง ตรงกลางห้อง ตั้งเครื่องฉายดาวระบบเลนส์ของ Carl Zeiss ของบริษัท คาร์ล ไซซ์ ประเทศเยอรมนี

เครื่องฉายดาว เป็นประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบการทำงานซับซ้อน ประกอบด้วยระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบแสงที่ประณีต ฉายภาพวัตถุท้องฟ้า และปรากฏการณ์หลายชนิด เลียนแบบธรรมชาติ สามารถปรับเครื่องขึ้นลงเพื่อแสดงดวงดาวในท้องฟ้าของประเทศใดก็ได้ตาม วัน-เวลาที่ต้องการ ทั้งดวงดาวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเครื่องฉายดาวขนาดใหญ่เครื่องแรกในย่านเอเชียอาคเนย์


และ ต่อไปนี้คือศักยภาพของเครื่องฉายดาวของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ 1.ฉายดาวฤกษ์ได้ประมาณ 9,000 ดวง ขณะที่ตาเปล่าสามารถมองเห็นดวงดาวในท้องฟ้าได้ราว 2,000 ดวง 2.ฉายดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ 5 ดวง และแสดงการเคลื่อนที่ผ่านไปในกลุ่มดาวต่างๆ ได้ชัดเจน 3.ฉายภาพกลุ่มดาวต่างๆ แสดงแนวทางช้างเผือก กระจุกดาว เนบิวลา กาแล็กซีบางแห่ง ดาวแปรแสง ดาวเทียม ดาวหาง ดาวตก เมฆ แสงรุ่งอรุณ แสงสนธยา แสดงการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา แสดงเส้นสมมติต่างๆ ในท้องฟ้า เช่น เส้นศูนย์สูตร เส้นสุริยวิถี เส้นเมอริเดียน แสดงขั้วทรงกลมฟ้า และตำแหน่งที่แกนผ่านขั้วโลกจะชี้ไปในรอบ 26,000 ปี แสดงระบบสุริยะ โลกหมุนในอวกาศ ภาพฉายแสดงรอบทิศ แสดงพื้นผิวดวงจันทร์ ดาวอังคาร พื้นผิวขั้วน้ำแข็งของโลก

ทั้งนี้ แต่ละรอบจะใช้เวลาจัดฉายประมาณ 1 ชั่วโมง และรายการแสดงจะผลัดเปลี่ยนไปทุกๆ เดือน

สำหรับ ส่วนแสดงนิทรรศการรอบห้องฉายดาวแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์และอวกาศของไทยและของโลก (ไม่เสีย ค่าชม) ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 โลกดาราศาสตร์ ส่วนที่ 2 ชีวิตสัมพันธ์กับดวงดาวอย่างไร? ส่วนที่ 3 โลก แหล่งกำเนิดชีวิต ส่วนที่ 4 ชีวิตของดาวฤกษ์ ส่วนที่ 5 ความเป็นไปในเอกภพ และส่วนที่ 6 มนุษย์กับการสำรวจอวกาศ รายละเอียดเกี่ยวกับส่วนต่างๆ เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ http:// www.bangkokplanetarium.com