สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง

รู้ไปโม้ด
nachart@yahoo.com


อยากทราบข้อ มูล เหตุผลการ สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงเยาวราชด้วยครับ

ภิญโญ

ตอบ ภิญโญ


โครงการ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์- ถนนท่าดินแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาความ เป็นไปได้ของโครงการ โดยมีเสียงท้วงติงคัดค้านจากภาคประชาชนหลายส่วน โดยเฉพาะชุมชนบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง เป็น 1 ในโครง การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 4 แห่ง ที่มีมูลค่าการก่อสร้างรวมกับกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย 2.สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนน ท่าดินแดง 3.สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม และ 4.สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร

ทั้งนี้ มีคำตอบจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ถึงหลักการและเหตุผลว่า จากการศึกษาสภาพพื้นที่โครงการ ทั้งฝั่งราชวงศ์และฝั่งท่าดินแดง พบว่าโครงข่ายถนนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.โครง ข่ายถนนบริเวณย่านเยาวราช หรือ ฝั่งราชวงศ์ 2.โครงข่ายถนนฝั่งท่าดินแดง และ 3.โครงข่ายถนน (สะพาน) เชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยา โดยโครงข่ายถนนบริเวณฝั่งราชวงศ์ ย่านเยาวราช มีถนนสำคัญหลายสาย ได้แก่ ถนนราชวงศ์ ถนนเยาวราช ถนนเจริญกรุง ถนนเสือป่า ถนนวรจักร ถนนจักรวรรดิ ถนนจักรเพชร ถนนมหาไชย ถนนหลวง ถนนบำรุงเมือง เป็นต้น

ถนนต่างๆ นี้ มีการจราจรหนาแน่นทุกสาย รถยนต์ส่วนใหญ่จะมาติดต่อซื้อขายสินค้าเป็นหลัก และในพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในด้านที่จอดรถจึงทำให้ปัญหาจราจรยิ่งทวีคูณ โดยรถยนต์เกือบทั้งหมดจากฝั่งท่าดินแดงที่จะมายังย่านเยาวราช ใช้สะพานพระพุทธยอดฟ้ากับสะพานพระปกเกล้าในการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การจราจรบนสะพานทั้งสองแห่งหนาแน่นมาก โดยเฉพาะสะพานพระปกเกล้าที่การจราจรจากสะพาน และจากย่านพาหุรัดและย่านเยาวราชตัดกระแสการจราจรกัน นอกจากนี้ พบว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดด้านการค้าขาย ทั้งพบว่ายังคงขาดพื้นที่สาธารณะที่จะนำมาใช้เป็นพื้นที่นันทนาการหรือที่ จัดกิจกรรมของชุมชน

ดังนั้น แนวคิดในการออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง จึงควรออกแบบให้ตอบสนองกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเพื่อการค้าขายแห่งใหม่ทั้งริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และกลางแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคต

ส่วนการออกแบบช่องทางกลับรถใต้สะพาน ในปัจจุบันปลายถนนราชวงศ์บริเวณท่าเรือราชวงศ์ และปลายถนนท่าดินแดงบริเวณท่าเรือท่าดินแดง มีสภาพการใช้งานเป็นจุดกลับรถยนต์และรถประจำทาง ในการศึกษาจะออกแบบช่องทางกลับรถใต้สะพานที่มีการขับขี่ได้สะดวกและปลอดภัย และจากที่ปัจจุบันจุดจอดรถประจำทางมีต้นสายอยู่ที่ท่าเรือราชวงศ์และท่าเรือ ท่าดินแดง การศึกษาจะออกแบบพื้นที่จอดรถประจำทางที่สะดวกหรือประสานงานเพื่อจัดเส้น ทางเดินรถใหม่ รวมถึงการออกแบบช่องลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่เรือ สัญจรตามกฎหมายและมาตรฐานสากล

โดยสรุป สะพานบริเวณท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดงจะมีขนาด 4 ช่อง จราจร ยาว 450 เมตร มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 100 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 900 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นที่ถนน ราชวงศ์ บริเวณบรรจบกับถนนทรงวาด จากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปตามแนวถนนท่าดินแดง โดยสำนักการโยธาเห็นว่าโครงการนี้จะช่วยแบ่งเบาการจราจรบริเวณสะพานพระพุทธฯ และสะพานพระปกเกล้าให้เกิดความคล่องตัวขึ้น