หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com


หอศิลปะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ไหนครับ ประวัติการสร้าง อยากรู้และเวลาเปิดปิดด้วย

อัมพร

ตอบ อัมพร

หอศิลป วัฒน ธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre) หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ ก่อร่างสร้างรูปเป็นโครงการหอศิลปวัฒน ธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ.2537 โดยกลุ่มศิลปินร่วม สมัยแห่งประเทศไทยจำนวนนับพันคน ได้จัดแสดงผลงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หวังให้สังคมเห็นว่า มีศิลปินมากพอที่ควรจะมีหอศิลป์มาเป็นพื้นที่รองรับการแสดงออกผลงาน และเก็บรักษาผลงาน ในอดีตและประวัติ ศาสตร์ เป็นที่รวมกลุ่มศิลปิน เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด แนวการทำงาน อันจะตามด้วยการผลักดันให้เกิดการพัฒนาของวงการศิลปะในบ้านเมือง

ถึง สมัย นายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2539-2543) การรณรงค์เรียกร้องให้มีหอศิลป์กรุงเทพฯ ดำเนินมาต่อเนื่อง กระทั่งกทม.มีนโยบายจะสร้างหอศิลป์ขึ้น กำหนดพื้นที่ตั้งบริเวณสี่แยกปทุมวัน และจัดประกวดแบบ ซึ่งผู้ชนะได้แก่บริษัท Robert G. Boughey & Associates (RGB Architects)

อย่างไรก็ตาม แม้จะดำเนินการได้ระดับหนึ่ง แต่โครงการหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้ถูกรื้อถอนความคืบหน้าเดิมทิ้งทั้งหมดเมื่อสิ้นสมัยนายพิจิตต โดยเปลี่ยนเป็นพื้นที่การค้าตามรูปแบบการใช้พื้นที่แถบนั้น และมีส่วนแสดงศิลปะไว้เล็กน้อย ส่งผลบรรดาศิลปิน คนทำงานศิลปะและเครือข่ายประชาชนต้องเคลื่อนไหวอีกครั้ง

กระทั่งสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. สภาแห่งกรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณดำเนินการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงิน 509 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม หอศิลป์กรุงเทพฯ จึงได้เริ่มก่อสร้างบริเวณสี่แยกปทุมวัน โดยเปิดโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ทั้งนี้ กำหนดการเดิมหอศิลปวัฒน ธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะสร้างเสร็จช่วงปลายปี 2549 แต่การก่อสร้างได้ล่าช้าออกไปจากเดิม มาแล้วเสร็จเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ.2551

หอ ศิลป์กรุงเทพฯ ลักษณะตัวอาคารสูง 9 ชั้น (และ 2 ชั้นใต้ดิน) ตัวอาคารเป็นทรงกระบอก เชื่อมต่อระหว่างอาคารด้วยทางเดินวน เป็นแนวเอียงขึ้น เพื่อให้คนที่เข้ามาชมผลงานชมได้ต่อเนื่องในแต่ละชั้น และตัวอาคารยังออกแบบให้รับแสงสว่างจากภายนอกในระดับ ที่แสงไม่แรงขนาดทำลายผลงานศิลปะที่แสดงอยู่ข้างในได้

ตัวอาคารมี พื้นที่ต่างๆ แบ่งดังนี้ ห้องสมุดศิลปะ ชั้น L รวมหนังสือและแหล่งความรู้ด้านศิลปะมากกว่า 6,000 รายการ พร้อมบริการอินเตอร์เน็ตและมุมศิลปะ, ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 มีทางเดินเชื่อม ต่อกับโถงใหญ่ ไว้สำหรับงานจัดเลี้ยง แถลงข่าว การประชุม การบรรยาย, โซนร้านค้า 34 คูหา ชั้น 1-4 รวมสินค้าด้านศิลปะ, สตูดิโอ ชั้น 4 เป็นพื้นที่อิสระสำหรับกิจกรรมจัดงานดนตรี ละคร หรือกิจกรรมแนวทดลองทางศิลปะ ศิลปะการแสดงสด ฯลฯ

ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 เป็นห้องขนาด 222 ที่นั่ง ใช้สำหรับการประชุมสัมมนา แสดงละคร ดนตรี ฉายภาพยนตร์ และมีบริการโต๊ะเก้าอี้ไว้ให้มานั่งทำการบ้าน อ่านหนังสือ ห้องประชุมชั้น 4-5 รวม 4 ห้อง มีไว้สัมมนา ประชุม บรรยาย เวิร์กช็อป และพื้นที่แสดงศิลปะ จัดแสดงทัศนศิลป์ ชั้น 7-9 แสดงนิทรรศการงานศิลปะ

หอศิลป วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน มุมถนนพระราม 1 และถนนพญาไท เวลาทำการ 10.00-21.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ เว็บไซต์ www.bacc.or.th