ฮกเกี้ยน

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com


ขอความรู้เรื่องมณฑลฮก เกี้ยน และชาวจีนฮกเกี้ยนด้วยครับ และขอศาลเจ้าชาวฮกเกี้ยนด้วยครับ

Wirat

ตอบ Wirat

มณฑล ฮก เกี้ยนที่คนไทยเรียกกัน มีชื่อเป็นทาง การว่า มณฑลฝูเจี้ยน เป็นมณฑลชายฝั่งทะเลที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยชื่อ "ฝู เจี้ยน" มาจากอักษรนำหน้า ชื่อเมืองสองเมืองรวมกันคือ "ฝูโจว" และ "เจี้ยนโอว" ชื่อนี้ตั้งมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เมืองสำคัญนอกจากเมืองหลวงคือเมืองฝูโจว ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำหมินเจียง ยังมีเมืองเซี่ย เหมิน เป็นเมืองใหญ่ที่สุด ถูกยกระดับเป็นเมืองใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ.1930

ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภาษาราชการของฝูเจี้ยนจึงเป็นภาษาจีนกลาง แต่ฝูเจี้ยนก็มีภาษาถิ่นมากมาย เป็นภาษาในกลุ่มหมิ่นทั้งหมด

ประกอบ ด้วย 7 ภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาหมิ่นเบ่ย หมิ่นตง หมิ่นจง หมิ่นหนาน ผู่เสี้ยน ส่าวเจี้ยง และภาษาฉุงเหวิน 6 ภาษาแรกใช้ในฝูเจี้ยน ส่วนภาษาฉุงเหวินใช้ในมณฑล ไห่หนาน

ทั้งนี้คนไทยมักจะเรียกภาษา หมิ่นหนานว่าภาษาจีนฮกเกี้ยน หรือภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นภาษาชนิดเดียวกันแต่ต่างสำเนียง ส่วนภาษาฉุง เหวินนั้นมักจะเรียกว่าภาษาไหหลำ



ปัจจุบัน เศรษฐกิจของมณฑลมีรายได้จากผลผลิตในภาคอุตสาห กรรมเบา เช่น กลุ่มอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อการส่งออกที่สำคัญ

สินค้านอกจากเครื่อง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและชิ้นส่วน ยังมีเครื่องแต่งกายและรองเท้า ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียง เช่น ส้มของฝูโจว ลำไยจากเมืองผู่เถียน ลิ้นจี่เมืองจางโจว ส้มโอเมืองเซี่ยเหมิน และพื้นที่แนวชายฝั่งของมณฑลยังเอื้อต่อการประมงและเลี้ยงสัตว์น้ำ

สมัย การอพยพครั้งใหญ่ในอดีต ชาวฮกเกี้ยนเป็นหนึ่งในกลุ่ม "ชาวจีนโพ้นทะเล" ล่องเรือจากแผ่นดินใหญ่สู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาถึงทุกวันนี้ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดตรัง และปัตตานี และที่ปีนัง สิงคโปร์ กับมีสัดส่วนสูงในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ในกลุ่มชาวฮกเกี้ยนยังแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ตามถิ่นฐานเดิมและสำเนียงพูด ได้แก่

1.ชาว ฮกโล่ คือกลุ่มที่อพยพจากทางตอนใต้ของมณฑล เมืองเอกคือเอ้หมึง (เซี่ยเหมิน) พื้นที่ของเขตชาวฮกโล่คือตั้งแต่เมืองเอ้หมึงลงมาจนถึงเขตมณฑลกวางตุ้ง เป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนที่มีมากที่สุดในบรรดา 2 กลุ่ม สำเนียงพูดเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนใต้ หรือหมิ่นหนาน (ฮกโล่ ยังเป็นคำที่ชาวไต้หวันเรียกแทนตัวเองด้วย)

2.ชาวฮกจิว หรือชาวฝูโจว คือกลุ่มที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของมณฑล เมืองเอกคือเมืองฮกจิว (ฝูโจว) พื้นที่เขตของชาวฮกจิวคือตั้งแต่ตอนเหนือของมณฑลลงมาจนสิ้นสุดรอยต่อระหว่าง เมืองเอ้หมึง สำเนียงการพูดเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนเหนือ ซึ่งไม่ เหมือนกับฮกเกี้ยนใต้เลย

ชาวฮกเกี้ยน เป็นกลุ่มชาวฮั่นกลุ่มแรกๆ ที่อพยพออกมาจากพื้นแผ่นดินใหญ่ไปตามประเทศต่างๆ เนื่องจากเป็นมณฑลที่อยู่ติดทะเลจึงออกจากประเทศได้ง่าย

สำหรับ ประเทศไทย คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้มีฐานะมาทำการค้า แต่ช่วงสมัยกรุงรัตน โกสินทร์ มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ ส่วนใหญ่ใช้แรงงานแลกค่าจ้าง ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า กุลี

ฮกเกี้ยน หนักเอาเบาสู้ตามคติต้องสู้ถึงจะชนะ ที่ปลูกฝังกันมายาวนาน การลงหลักปักฐานที่ภูเก็ตของชาวฮกเกี้ยน ก็เริ่มจากเป็นกุลีเหมืองแร่ และเพราะสู้จึงชนะ สร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นคหบดี นอกจากนั้นชาวฮกเกี้ยนยังมีอาชีพประมงและเดินเรือ ด้วยความรู้ทางทะเลเชี่ยวชำนาญจากถิ่นเดิมริมทะเลจีนใต้

ศาสนสถาน สำคัญของชาวฮกเกี้ยนในประเทศไทย อาทิ ศาลเจ้าโจ้วสู่กง-ตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร ศาลเจ้าเที้ยนอันเก้ง-ธนบุรี กทม. ศาลเจ้าเซียงกง-กทม. ศาลเจ้าปุดจ้อ-ภูเก็ต ศาลเจ้าเต่งก้องต๋อง-ภูเก็ต ศาลเจ้าซัมเที้ยนเฮ๋วกึ่ง-ภูเก็ต ศาลเจ้าทีก้งตั๋ว-ภูเก็ต ศาลเจ้าเส่งเต็กเบ๋ว-ภูเก็ต ศาลเจ้าไล๋ทู่เต้าโบ้เก้ง-ภูเก็ต ศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว-ปัตตานี