Trigger Point ปวดเรื้อรัง ภัยเงียบชาวออฟฟิศ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก stayforevercrossfit

          ชีวิต คนทำงานยุคนี้ นับวันก็ยิ่งสะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ก็ทำประโยชน์ได้สารพัด แต่เพราะการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้แหละ ทำให้โรคมาเข้าคิวรอพนักงานออฟฟิศกันเป็นแถวเช่นกัน และหนึ่งในอาการที่คนออฟฟิศเป็นกันบ่อย ๆ ก็คือ โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ที่นำไปสู่ Trigger Point (จุดกดเจ็บ) ได้

          สงสัยกันไหมว่า Trigger Point คืออะไร แล้วคุณเป็น Trigger Point ด้วยหรือเปล่าล่ะ มาตรวจสอบอาการกันเลย

          โดย ปกติแล้ว คนทำงานออฟฟิศนั่งจ้องคอมพิวเตอร์นาน ๆ มักมีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนบน ไล่มาตั้งแต่ คอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น เราก็มักจะใช้วิธีการนวด ทายาคลายกล้ามเนื้อ หรือรับประทานยา รวมทั้งประคบด้วยความร้อน เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวแล้วจะรู้สึกดีขึ้น แต่ก็ช่วยได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะ Trigger Point (จุดกดเจ็บ) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ จุดที่เรากดลงไปแล้วรู้สึกปวด เจ็บแปลบ ๆ เหมือนมีก้อนแข็ง ๆ เล็ก ๆ ยังคงไม่สลายไป

Trigger Point เกิดขึ้นได้อย่างไร

          คนทำงานออฟฟิศมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (MPS – Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งสะสมต่อเนื่องกัน นาน ๆ เข้าจะเกิดเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร เรียกว่า Trigger Point หรือ จุดกดเจ็บจำนวนมากซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อหรือเยื่อพังพืด พอมีจุดกดเจ็บมากขึ้น ออกซิเจนและเลือดจะส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแอ เกิดอาการปวด ส่งต่อไปยังบริเวณใกล้เคียงจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังตามมา

อาการที่แสดงว่าเป็น Trigger Point

          หากเกิด Trigger Point ขึ้น จะมีอาการปวดร้าวลึกของกล้ามเนื้อ อาจจะปวดตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะเวลานั่งทำงาน บางคนอาจเป็นหนักจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้ หรือบางคนอาจลามไปถึงปวดศีรษะ ไมเกรน นอนไม่หลับ มีอาการชาตามมือและแขน ต่อมาอาจส่งผลให้เกิดปัญหาโครงสร้างของร่างกาย เช่น ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หลังงอ ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน นำไปสู่โรคภัยอีกเพียบ

ปัจจัยเสี่ยง โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

          พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการปวดเรื้อรัง และจุดกดเจ็บ ได้แก่

          1. ท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสม

          2. ลักษณะงานที่ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวต่อเนื่อง เช่น การใช้คอมพิวเตอร์

          3.การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ

          4. การทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อท่าเดียวกันซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง

          5. การทำงานของกล้ามเนื้อมากเกินไป ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ

          6. ขาดการดูแลและบริหารกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย

          จะเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมด มักเกิดกับหนุ่มสาวออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่


trigger point

จุดที่มักเป็น Trigger Point


จะรักษา Trigger Point ได้อย่างไร

          หลายคนเข้าใจว่า หากปล่อยอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อนี้ไว้ หรือนวดบ่อย ๆ น่าจะหายได้เอง แต่ความจริงแล้วเพียงแค่ช่วยบรรเทา หลังจากนั้นไม่นานอาการปวดเมื่อยสามารถกลับมาเป็นได้อีก เพราจุด Trigger Point ยังอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง และหากปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่รักษาจะทำให้ Trigger Point ใหญ่ขึ้นและแน่นขึ้น จนไปกดทับเส้นเลือด และเส้นประสาท อาจนำมาสู่อาการปวดศีรษะ ไมเกรน หากไปกดทับเส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง นอกจากนั้นยังอาจมรอาการชา ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ ได้ด้วย เพราะเลือดไหลเวียนไม่สะดวก

แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?

          คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ DOCTOR CARE ได้แนะนำวิธีรักษา Trigger Point โดยใช้วิธีการนวดกดจุด ที่เรียกว่า Trigger Point Therapy

          โดยหลักการรักษาแบบ Trigger Point Therapy จะทำเพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ , สลาย Trigger Point ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดเรื้อรัง และยังป้องกันการกลับมาของ Trigger Point ด้วยการให้คำแนะนำ และการดูแลกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี

ขั้นตอนการรักษา Trigger Point Therapy

          แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามค้นหา Trigger Point ที่ซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อและเยื่อพังพืด แล้วทำการนวดบริเวณหนือ Trigger Point ที่มีการหดเกร็ง ให้คลายตัวลง มีเลือดไปหล่อเลี้ยง เพื่อลดอาการปวด เมื่อกล้ามเนื้อรอบบริเวณคลายตัวแล้ว จึงจะเริ่มกดไปยัง Trigger Point นั้นให้คลายตัว เพื่อให้เลือดและออกซิเจน สามารถมาหล่อเลี้ยงยังจุดที่มีปัญหาได้ ทำให้อาการปวดหายไป

          ด้วยการกดจุดต่อครั้งละประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่อง  4 - 6 ครั้งด้วยวิธีรักษาตามโปรแกรม จะทำให้ Trigger Point คลายตัวลงเป็นกล้ามเนื้อปกติ และหายจากอาการปวดเรื้อรังได้ เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

วิธีบริหารร่างกาย ป้องกัน Trigger Point

          หากไม่ต้องการเป็นโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง จนเกิดเป็น Trigger Point ต้องมีการบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝึกยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวบนต้นแขนและคอ โดยประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วยืดมือออกไปด้านหน้า จากนั้นค่อยยกขึ้นด้านบน และโยกไปด้านซ้ายและขวา

          นอกจากนี้ ยังควรยืดกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัวหลังต้นขาและกล้ามเนื้องอ เช่น ประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วยืดมือออกไปด้านบน จากนั้นค่อย ๆ โยกลำตัวไปด้านข้างจนเอวรู้สึกตึง สลับไปอีกข้าง

credit  http://health.kapook.com/view16035.html